‘สุรพงษ์’ สั่ง รฟท. ปั้มรายได้ขนส่งสินค้า จาก 2 พันล้าน พุ่งเป็น 2.2 หมื่นล้านในปี 67 พร้อมเร่งสร้างทางคู่ ‘หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์’

“สุรพงษ์” สั่ง รฟท. เร่งปั้มรายได้ปี 67 พุ่งเป้าการขนส่งสินค้าจากสัดส่วน 3% มูลค่า 2 พันล้าน อัพเป็น 30% มูลค่า 2.2 หมื่นล้าน วางงบดุลต้องเป็นบวก พร้อมปรับแผนรถไฟทางคู่เฟส 2 ดึง “หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์” 6.6 พันล้าน ขึ้นมาเร่งดำเนินการ จ่อเสนอบอร์ดเคาะ 19 ต.ค.นี้ ก่อนชง ครม.ไฟเขียว พ.ย. 66 พ่วงอีก 2 เส้นทาง “ขอนแก่น-หนองคาย & ปากน้ำโพ-เด่นชัย” ส่วนสีแดงต่อขยาย 3 เส้นทาง คาดเสนอ ครม. ภายในปีนี้

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วันนี้ (11 ต.ค. 2566) ว่า รฟท. ได้รายงานถึงผลประกอบการ พบว่า ขณะนี้มีหนี้สะสมมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท จึงได้มอบหมายให้ รฟท. หาวิธีดำเนินการเพื่อเพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปีงบประมาณ 2567 การรถไฟฯ งบดุลจะต้องไม่มีตัวแดง หรือ EBITDA เป็นบวก

ทั้งนี้ รฟท. มีจุดแข็ง คือ เป็นธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่ง แต่ก็มีจุดอ่อน คือ เรื่องการพัฒนาที่มีความล่าช้า ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้เพิ่มรายได้ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้า ซึ่ง รฟท. มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 3% จากปริมาณการขนส่งทั้งประเทศ หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายให้เพิ่มเป็น 30% หรือมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 22,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะตั้งทีมการตลาด เพื่อดึงรัฐวิสาหกิจ และเอกชน เข้ามาร่วมดำเนินการต่อไป

ขณะที่ สัดส่วนด้านการขนส่งผู้โดยสารนั้น มีเพียง 2% เท่านั้น เมื่อเทียบกับการเดินทางในโหมดอื่นๆ จึงมอบหมายให้ รฟท. ไปพิจารณาหาแนวทางดึงดูดให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และจะสร้างรายได้ให้ รฟท. เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ยอมรับว่า รฟท. ไม่มีการปรับราคาค่าโดยสารมากว่า 25 ปี หรือปรับราคาค่าโดยสารครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2538 จึงให้ รฟท. ไปพิจารณาดูราคาค่าโดยสารให้สอดคล้องต้นทุนที่แท้จริง ในส่วนของบริการรถไฟเชิงพาณิชย์ ในชั้น 1 และ 2 ไม่รวมด้านบริการเชิงสังคมสำหรับผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม ตนจะเดินทางมาตรวจการบ้าน หรือข้อสั่งการที่ให้ไปในทุกๆ 3 เดือน

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตนได้ให้นโยบายปรับแผนการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 โดยเฉพาะช่วงหาดใหญ่-ปาดังเปซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6,660 ล้านบาท ให้นำมาดำเนินการก่อน จากเดิมถูกจัดลำดับความสำคัญในลำดับท้าย เนื่องจากเป็นแนวเส้นทางที่จะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างชายแดน และเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง อีกทั้งนักธุรกิจ และประชาชนในพื้นที่ได้ร้องขอให้เร่งดำเนินการด้วย

ทั้งนี้ เร่งรัดให้ รฟท.นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ในวันที่ 19 ต.ค. 2566 ก่อนที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายใน พ.ย.นี้ รวมถึงจะมีการเสนอโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. วงเงิน 62,800 ล้านบาท ให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาภายใน พ.ย.นี้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม คาดว่า รถไฟทางคู่ทั้ง 3 เส้นทางดังกล่าว จะเปิดประมูลได้ประมาณปี 2567

นายสุรพงษ์ กล่างต่อว่า ในส่วนความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมือง ส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง วงเงินรวม 21,754 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท 2.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท และช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468 ล้านบาทนั้น คาดว่า จะเสนอไปยังที่ประชุม ครม.ได้ภายในปลายปี 2566 หรือไตรมาส 1/2567