‘คมนาคม’ เปิด 7 โปรเจกต์ มูลค่า 1.48 แสนล้าน อัปเกรดโครงสร้างพื้นฐาน ‘คมนาคม’ @ภูเก็ต สนองนโยบายรัฐบาล

“สุริยะ” เตรียมความพร้อมระบบคมนาคมขนส่งมวลชนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จ่อชงนายกฯ เคาะลงทุน 7 โครงการ มูลค่า 1.48 แสนล้าน ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน 4 มิติ ”บก-น้ำ-ราง-อากาศ“ รองรับนักท่องเที่ยว & กระตุ้นเศรษฐกิจ สนองนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาล เร่งขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานภูเก็ต รับผู้โดยสารปีละ 18 ล้านคน ลุยพัฒนาถนนทางหลวง เดินหน้าทางด่วนกะทู้-ป่าตอง คาดเริ่มก่อสร้างปี 67 แล้วเสร็จปี 71 พร้อมเชื่อมโครงข่ายระบบรางภายในเมือง-รถไฟทางไกล

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมเตรียมการและข้อมูลระบบคมนาคมขนส่งในพื้นที่ จ.ภูเก็ตว่า ตามนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการกระตุ้นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และสอดคล้องกับนโยบายฟรีวีซ่า โดยในส่วนของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค ที่มีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศนั้น

โดยกระทรวงคมนาคมจึงมีแผนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม ทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ พิจารณาแผนลงทุนเร่งด่วน 7 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.48 แสนล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงกับการให้บริการระบบคมนาคมขนส่งในทุกมิติ อำนวยความสะดวกการใช้บริการของประชาชนและนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดภูเก็ต และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีแผนการดำเนินงาน 7 โครงการลงทุนดังกล่าว ประกอบด้วย 1.การพัฒนาขยายขีดความสามารถ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ระยะที่ 2) จากเดิมรองรับผู้โดยสาร 12.5 ล้านคน เพิ่มเป็น 18 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุน 6,211 ล้านบาท ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 แล้วเสร็จในปี 2571

2.โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทางหลวง หมายเลข 4027 ช่วง บ.พารา – บ.เมืองใหม่ ระยะทาง 4.55 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 510 ล้านบาท โดยกรมทางหลวง (ทล.) เตรียมเสนอขอตั้งงบประมาณก่อสร้างในปี 2567 คาดว่า จะเปิดให้บริการในปี 2569, 3.โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ.เมืองใหม่ – สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต ระยะทาง 1.95 กม. วงเงิน 2,468 ล้านบาท คาดว่าจะสำรวจ และเสนอขอออก พรฎ.เวนคืน เพื่อจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในปี 2567 ก่อนเสนอขอตั้งงบประมาณก่อสร้างในปี 2568 และเปิดให้บริการในปี 2570

4.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (ทางลอดท่อเรือ) ที่ กม. 34+680 (ทล.402) วงเงิน 2,425 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอตั้งงบประมาณก่อสร้างในปี 2567 และเปิดให้บริการในปี 2570, 5.โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายกระทู้ – ป่าตอง มูลค่าลงทุน 14,670 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 และเปิดให้บริการได้ในปี 2571, 6.โครงการทางพิเศษ สายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กระทู้ วงเงิน 42,633 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2570 และเปิดให้บริการได้ในปี 2573 และ 7.การพัฒนาท่าอาอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (สนามบินอันดามัน) วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการลงทุนเร่งด่วน ตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดเตรียมพร้อมการลงทุน โดยขอให้จัดใช้งบประมาณประจำปี 2567 เริ่มนำร่องก่อสร้างโครงการ เบื้องต้นจึงคาดว่าโครงการเร่งด่วนเหล่านี้ จะทยอยเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนทันทีในปี 2567 และเริ่มงานก่อสร้าง เพื่อทยอยแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2569 โดยเฉพาะโครงการลงทุนทางบก ถนนทางหลวงต่างๆ เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้เป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า จะพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) สาย MR9 สุราษฎร์ธานี – ภูเก็ต ระยะทาง 236 กม. ที่จะพัฒนาในอนาคต อีกทั้ง ได้กำหนดแผนดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองภูเก็ต สายสถานีรถไฟท่านุ่น – ท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอม รวมระยะทาง 58.5 กม. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการ

อีกทั้ง โครงการรถไฟทางไกลระหว่างเมือง สายท่าอากาศยานภูเก็ต – ท่าอากาศยานกระบี่ ระยะทาง 149 กม. เชื่อมระหว่างภูเก็ต พังงา และกระบี่ รวมถึงสายสุราษฎร์ธานี – ท่านุ่น ระยะทาง 163 กม. เชื่อมโยงจังหวัดภูเก็ตกับทางรถไฟสายใต้ไปยังโครงข่ายรถไฟทั่วประเทศ เพื่อให้การเดินทางด้วยระบบราง มีความสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยว เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับจังหวัดภูเก็ตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องยั่งยืนตลอดไป