‘การบินไทย’ ปิดตำนาน ‘ไทยสมายล์’ ม.ค. 67 จ่อเปิดรูทใหม่ ‘อิสตันบูล’ 1 ธ.ค.นี้ พร้อมรุกตลาดญี่ปุ่น บูมเที่ยว ‘ซัปโปโร’ ตลอดทั้งปี

“การบินไทย” ปิดตำนาน “ไทยสมายล์” เตรียมโอนเครื่องบินครบ 20 ลำ-บอกลาโค้ด WE ภายใน ม.ค. 67 พร้อมเร่งหาฝูงบิน 95 ลำตามแผนฟื้นฟูภายในปี 70 เตรียมเปิดรูทใหม่สู่ “อิสตันบูล” บุกตลาดตุรกี รับประชากร 85 ล้านคน ดีเดย์ 1 ธ.ค.นี้ กางแผนเส้นทางแดนปลาดิบ ลุยเพิ่มความถี่ รับไฮซีซั่น เล็งหารือฝ่ายการตลาด บูมเที่ยว “ซัปโปโร” ตลอดทั้งปี มีดีไม่น้อยกว่าหน้าหนาว

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างธุรกิจโดยการบินไทยควบรวม บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (ไทยสมายล์) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่การบินไทยถือหุ้นอยู่ 99.99% ว่า ภายใน ม.ค. 2567 จะไม่มีเที่ยวบินที่เป็นโค้ด WE ซึ่งเป็นโค้ดของสายการบินไทยสมายล์ โดยจะปรับเป็นโค้ด TG ของสายการบินไทยทั้งหมด

สำหรับในขณะนี้ไทยสมายล์ได้โอนฝูงบินแอร์บัส A320 มาแล้ว 4 ลำ เหลืออีก 16 ลำ ซึ่งคาดว่าจะครบ 20 ลำภายใน ม.ค. 2567 รวมทั้งทยอยโอนนักบินและลูกเรือและจุดบินมาด้วย ทั้งนี้ ในปัจจุบัน การบินไทยได้เริ่มทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศของไทยสมายล์แล้ว 8 เส้นทาง ได้แก่ ย่างกุ้ง ธากา เวียงจันทน์ พนมเปญ อาห์เมดาบัด เกาสง ปีนัง และกัลกัตตา ขณะนี้ยังเหลือเส้นทางบินไปยังประเทศเวียดนามอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ ฮานอย โฮจิมินห์ และจะเริ่มเปิดทำการบินไปยังเส้นทางกาฐมาณฑุ ในวันที่ 1 ธ.ค. 2566

ในส่วนเส้นทางภายในประเทศของไทยสมายล์นั้น การบินไทยจะทยอยทำการบินเส้นทางในประเทศรวม 9 เส้นทาง ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A320 ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี กระบี่ หาดใหญ่ นราธิวาส และเส้นทางภูเก็ต 1 เที่ยวบิน จะเริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 777-200ER เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวจากนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาล

*** เร่งหาฝูงบินตามแผนฟื้นฟู 95 ลำ ภายในปี 70 ***

นายชาย กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการจัดหาฝูงบินของการบินไทยนั้น ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบิน 76 ลำ ซึ่งในจำนวนดังกล่าว รวมการโอนฝูงบินของไทยสมายล์ จำนวน 20 ลำแล้ว ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย จะต้องจัดหาให้ครบ 95 ลำ ภายในปี 2570 ขณะเดียวกัน จะมีเครื่องบินที่กำลังจะหมดสัญญาเช่า จำนวน 5 ลำ (โบอิ้ง 777-200ER) การบินไทยจึงจะต้องมีการจัดหาอีกประมาณ 14 ลำ ซึ่งจะเป็นการเช่า โดยในเบื้องต้นอาจจะเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER, โบอิ้ง 787, แอร์บัส A350 หรือแอร์บัส 330

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า สถานการณ์ตลาดในขณะนี้ แต่ละสายการบินต่างหาเครื่องบินไกลขนาดใหญ่ลำตัวกว้างไว้รองรับความต้องการของผู้โดยสารอนาคต ส่งผลให้กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของแต่ละสายการบิน ยกตัวอย่างเช่น แอร์บัสมีกำลังการผลิตเครื่องบินได้ปีละประมาณ 100 ลำ แต่มียอดขายที่รับรู้รายได้ (Backlog) จำนวน 400 กว่าลำ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า การจัดหาฝูงบินจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และเพียงพอในอุตสาหกรรมการบิน โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 ปี

*** ดีเดย์! 1 ธ.ค. 66 เปิดรูทใหม่ “กรุงเทพฯ-อิสตันบูล ***

นายชาย กล่าวต่ออีกว่า ในวันที่ 1 ธ.ค. 2566 นี้ การบินไทย เตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ-อิสตันบูล (ตุรกี) โดยทำการบินด้วยแอร์บัส A350-900 จำนวน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ กล่าวคือ เที่ยวบินที่ TG 900 ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 23.45 น. ถึงอิสตันบูล เวลา 06.05 น. (เวลาท้องถิ่น) ในวันถัดไป และเส้นทางอิสตันบูล-กรุงเทพฯ เที่ยวบิน TG 901 ออกจากอิสตันบูล เวลา 16.30 น (เวลาท้องถิ่น) ถึงกรุงเทพฯ เวลา 05.35 น. ในวันถัดไป ทั้งนี้ ตั้งเป้าผู้โดยสารใช้บริการในเส้นทางอิสตันบูลกว่า 70%

สำหรับอิสตันบูล ประเทศตุรกี จะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางเลือกของผู้โดยสาร เป็นจุดศูนย์กลางระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา สามารถเชื่อมต่อเที่ยวบินไปยังจุดหมายต่างๆ ได้ ขณะเดียวกัน การเปิดเส้นทางดังกล่าว นอกจากจะเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และออสเตรเลียแล้ว ยังสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ในการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างตุรกีกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มยุโรปตะวันออก ส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศ อีกทั้งยังเป็นการกระจายฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากประเทศตุรกีเป็นตลาดที่มีประชากรกว่า 85.3 ล้านคน

*** เปิดแผนเส้นทางบินตลาด “ญี่ปุ่น”  ***

นายชาย ยังกล่าวถึงตลาดการบินในเส้นทางญี่ปุ่นว่า อุตสาหกรรมการบินประเทศญี่ปุ่นในภาพรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นตลาดการบินที่ดีที่สุดในกลุ่มประเทศของภูมิภาคเอเชียเหนือ โดยตลาดญี่ปุ่นครองสัดส่วนไปถึง 20% ของเส้นทางที่การบินไทยที่ทำการบินทั้งหมด ขณะที่ยุโรป 30%, เอเชียใต้ (สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย) 13%, เอเชียตะวันตก-ตะวันออกกลาง 10% และเส้นทางภายในประเทศ 27%

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการบินไทยทำการบินสู่ประเทศญี่ปุ่น รวม 6 เส้นทางบิน ได้แก่ โตเกียว (นาริตะ/ฮาเนดะ) นาโกยา โอซากา ฟุกุโอกะ และซัปโปโร โดยเส้นทางกรุงเทพฯ-โตเกียว (นาริตะ/ฮาเนดะ) ถือเป็นตลาดที่ทำรายได้มากที่สุดในเส้นทางบินประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่น ทำให้มีนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวเดินทางจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ในช่วง ต.ค. 2566 ซึ่งเข้าสู่ฤดูหนาวและฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) คาดการณ์ว่า เส้นทางญี่ปุ่นจะมีการเดินทางเพิ่มมากขึ้น โดยการบินไทยจึงมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวในตารางบินฤดูหนาว ระหว่างวันที่ 29 ต.ค. 2566-30 มี.ค. 2567 รวม 6 เส้นทาง จำนวนรวม 63 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ดังนี้

  1. เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ซัปโปโร ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน
  2. เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โตเกียว (นาริตะ) ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน
  3. เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โตเกียว (ฮาเนดะ) ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน
  4. เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-นาโกยา ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน
  5. เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โอซากา ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน
  6. เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ฟุกุโอกะ ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน

*** เร่งโปรโมทเส้นทางสู่ “ซัปโปโร” ชวนเที่ยวตลอดทั้งปี ***

นายชาย กล่าวอีกว่า ในส่วนของเส้นทางกรุงเทพฯ-ซัปโปโรนั้น ปัจจุบันการบินไทยทำการบินเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ซัปโปโร ในตารางบินฤดูร้อน ระหว่างวันที่ 2 ส.ค.-28 ต.ค. 2566 ด้วยเครื่องบินแบบโบอิ้ง 787-9 สัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน โดยเที่ยวบินที่ TG670 เส้นทางกรุงเทพฯ-ซัปโปโร ทำการบินในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ ออกจาก กรุงเทพฯ เวลา 23.45 น. ถึง ซัปโปโร เวลา 08.30 น. (เวลาท้องถิ่น) ในวันถัดไป และเที่ยวบินที่ TG671 เส้นทางซัปโปโร-กรุงเทพฯ ทำการบินในวันจันทร์ อังคาร พฤหัสบดี เสาร์ และอาทิตย์ ออกจาก ซัปโปโร เวลา 10.00 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึง กรุงเทพฯ เวลา 15.00 น.

ทั้งนี้ ในตารางบินฤดูหนาว ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 2566-30 มี.ค. 2567 จะเปิดทำการบินทุกวัน ตามตารางบิน ดังนี้ เที่ยวบินที่ TG670 เส้นทางกรุงเทพฯ-ซัปโปโร ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 23.55 น. ถึงซัปโปโร เวลา 08.20 น. (เวลาท้องถิ่น) ในวันถัดไป และเที่ยวบินที่ TG671 เส้นทางซัปโปโร-กรุงเทพฯ ออกจากซัปโปโร เวลา 10.00 น. (เวลาท้องถิ่น) ถึง กรุงเทพฯ เวลา 15.50 น. ส่วนยอดจองตั๋วล่วงหน้าในช่วงฤดูหนาวเส้นทางบินประเทศญี่ปุ่น ระหว่าง ต.ค.-พ.ย. 2566 มีไม่ต่ำกว่า 40-50% แล้ว จากปัจจุบันที่มียอดจองทั้งหมดประมาณ 60%

สำหรับเส้นทางกรุงเทพฯ-ซัปโปโร ในช่วงไฮซีซั่นนั้น คาดว่าจะมีผู้โดยสารกว่า 80-85% แต่ในช่วงฤดูร้อน ยังมีผู้โดยสารเดินทางไปซัปโปโรน้อย ดังนั้น การบินไทย จึงมีแผนหารือร่วมกับฝ่ายการตลาด เพื่อกระตุ้นการเดินทางในเส้นทางกรุงเทพฯ-ซัปโปโรให้ท่องเที่ยวได้ทุกฤดู ไม่ใช่เฉพาะฤดูหนาว ซึ่งในช่วงฤดูร้อน สามารถทำกิจกรรมได้หลากหลายเช่นกัน สามารถชมความงามของดอกไม้หลากสี อากาศไม่ร้อนมากนัก อุณหภูมิเฉลี่ย 10-25 องศาเซลเซียส และมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม เช่น บ่อน้ำสีฟ้า น้ำตกหนวดขาว ทุ่งดอกไม้หลากสีของเมืองบิเอะ เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าความต้องการของชาวญี่ปุ่นที่จะเดินทางมายังประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้รณรงค์ให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางไปยังต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายมากขึ้นแล้ว ซึ่งประเทศไทยถือเป็นจุดมุ่งหมายอันดับต้นๆ สำหรับชาวญี่ปุ่น เพื่อเดินทางไปพักผ่อนหรือติดต่อเจรจาธุรกิจ

ขณะเดียวกัน การบินไทยมีผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์ชาวญี่ปุ่นได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นตารางบินที่ครอบคลุม เครื่องบินที่ทันสมัยและสะดวกสบาย การบริการตามแบบฉบับไทยที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบ หรือแม้กระทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้โดยสารจะได้รับ ไม่ว่าจากการบินไทยเองและจากพันธมิตรทางธุรกิจ อีกทั้ง การบินไทยยังมีเครือข่ายเส้นทางการบินที่คลอบคลุมจุดมุ่งหมายของชาวญี่ปุ่นต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน หรือ แม้กระทั้งยุโรป จึงคาดว่าในปี 2567 นี้การเดินทางของชาวญี่ปุ่นจะเดินทางมายังไทยเป็นจำนวนมาก