ส่องแผน ESG   “ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์” ความยั่งยืนไม่ใช่เทรนด์แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ

ปัจจุบัน ESG หรือแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างที่ยั่งยืน ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่หลายองค์กรทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ โดยนำปัจจัยหลักของ ESG ที่เกื้อหนุนและเชื่อมโยงกัน 3 มิติ ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล  (Governance) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งไม่ได้มุ่งหวังเป้าหมายเพียงผลกำไรทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังต้องดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการองค์กรที่ดี เช่นเดียวกับบริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ตั้งคณะทำงานด้านความยั่งยืนเพื่อนำ ESG มาบูรณาการเป็นส่วนหนึ่งของแผนขับเคลื่อนกลยุทธ์ทางธุรกิจที่จะช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับองค์กร

ในฐานะที่ดูแลเกี่ยวกับ ESG โดยตรง นายเฉลิมศักดิ์ กาญจนวรินทร์ กรรมการ บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)  เกริ่นถึงความตื่นตัวเกี่ยวกับความยั่งยืนของภาคธุรกิจว่า ในปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ มีเป้าหมายองค์กรที่สอดรับกับนโยบายของประเทศ สำหรับประเทศไทยหลังจากเข้าร่วม COP26 ได้ประกาศเป้าหมายสำคัญคือการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ตามแผนการดำเนินแผนพลังงานแห่งชาติ รวมทั้งโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่คำนึงถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่าง BGC Model  ซึ่งหากจะพูดถึงความยั่งยืนในระดับเวทีโลก จะให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการทำงาน โดยมีการประเมินตลอดวงจรการทำงานว่าขั้นตอนไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าชคาร์บอน มีปริมาณการปล่อยก๊าชคาร์บอนมากน้อยเพียงใด และจะสามารถลดก๊าชคาร์บอนได้อย่างไร

ESG ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่เป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจ นายเฉลิมศักดิ์ อธิบายว่าจุดเริ่มต้นในการทำ ESG คือองค์กรต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความยั่งยืน ซึ่งทางทริพเพิล ไอ  โลจิสติกส์ ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่อง ESG โดยตรง โดยพัฒนาแผนกลยุทธ์ความยั่งยืนแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านธรรมมาภิบาล

“การทำ ESG ให้ประสบความสำเร็จ เบื้องต้นคนในองค์กรต้องตระหนัก รับรู้ และเข้าใจในวิธีการกันก่อน ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ มีบริษัทในเครือกว่า 20 บริษัท เราต้องสื่อสารทำให้บุคลากรของเราทุกคนเข้าใจว่า ESG ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าละเลยจะมีผลกระทบอย่างไร เช่น ภาวะโลกร้อนมากขึ้น ซึ่งก็เริ่มรับรู้กันบ้างแล้ว ในส่วนของธุรกิจก็จะมีข้อกำหนดต่างๆ จากคู่ค้า และด้วยความที่เรามีลูกค้าทั้งในประเทศและต่างชาติ เลยเห็นได้ว่าทางยุโรปที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง ถ้าเขามาใช้บริการ ก็ต้องตอบคำถามเกี่ยวกับการลดคาร์บอน ว่าลดจริงไหม ลดเท่าไร บางทีอาจจะเป็นเกณฑ์ตัวเลขที่เขาตั้งมาด้วยซ้ำ“ นายเฉลิมศักดิ์กล่าว

สำหรับธุรกิจการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่มีบทบาทสำคัญใการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็เป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตของธุรกิจ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีผู้ประกอบการหลายรายหันมาให้ความสำคัญกับองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ที่จะช่วยลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ในส่วนของทริพเพิล ไอ เราใช้การจ้างหน่วยงานภายนอกในการขนส่งสินค้าทั้งหมด ซึ่งในอนาคตก็ต้องมาคุยกันว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง มีปริมาณการปล่อยคาร์บอนออกมาเท่าไหร่ จะปรับให้น้อยลงได้อย่างไร มีความเป็นไปได้หรือไม่ในการปรับมาใช้รถอีวี ซึ่งในอนาคตเทรนด์รถบรรทุกอีวีต้องมาอย่างแน่นอน แต่การปรับก็คงแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ

เนื่องจากเรามีคลังสินค้าหลายแห่งและมีการใช้ไฟฟ้าปริมาณสูง ในปีที่ผ่านมาจึงได้พิจารณาว่าจะนำพลังงานทางเลือกมาใช้ในส่วนไหนได้บ้าง ทั้งบริเวณอาคารสำนักงานใหญ่และในคลังสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุโปร่งแสงบนหลังคาคลังสินค้าเพื่อใช้แสงธรรมชาติในตอนกลางวัน การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ในหลายจุด การเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟประหยัดพลังงานอย่าง LED  รวมถึงการติดตั้งฉนวนกันความร้อนบริเวณหลังคาอาคารเพื่อช่วยให้เครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลง”

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการจัดการของเสียด้วยระบบการกำจัดขยะและของเสียอันตรายจากคลังสินค้าเคมีไปเผาทำลายตามมาตรฐานประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับขยะและของเสียไม่อันตรายมีการคัดแยกประเภทโดยใช้หลักการ 3R คือ  Reduce ใช้น้อยลงหรือลดการใช้  Reuse คือการนำของเสียบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้อีกโดยไม่ผ่านการแปรรูป และ Recycle แปรรูปกลับมาใช้ใหม่หรือปรับในเรื่องของผลิตภันฑ์ให้รักษ์โลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งทางบริษัทได้มีการนำกล่องบรรจุภัณฑ์เหลือทิ้งมาใช้ซ้ำในกระบวนการคัดแยกสินค้าภายในคลังสินค้า และยังส่งเสริมให้มีการใช้ e-Document เพื่อลดปริมาณกระดาษและการพิมพ์เอกสารอีกด้วย

ปัจจุบันในภาคขนส่งและโลจิสติกส์รวมถึงภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักเรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change ที่ยกระดับความรุนแรงสู่ Climate Crisis แต่ทั้งนี้ เราจะคาดหวังแค่เพียงภาคธุรกิจคงไม่ได้คนส่วนมากต้องตระหนักด้วย  เพราะมีหลายกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษ์โลกที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้

ทั้งหมดคือแนวคิดการพัฒนาด้าน ESG ของ “ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์’ ที่มุ่งหวังขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตทั้งในมุมของมูลค่าและคุณค่า ซึ่งนอกจากความแข็งแกร่งทางธุรกิจ เราต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคมให้ยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน