SCGP เจาะลึกพฤติกรรมและการตลาดสำหรับผู้สูงวัย กระตุกไอเดียแพคเกจจิ้งแบบไหนที่ตรงใจคนรุ่นใหญ่

SCGP จัดงานเสวนาแบ่งปันอินไซต์ของคนรุ่นใหญ่เพื่อคนรุ่นใหม่ เพื่อต่อยอดเป็นไอเดียการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เข้ากับพฤติกรรมและความต้องการที่เปลี่ยนไปตามวัยของผู้สูงอายุ สร้างสรรค์เป็นบรรจุภัณฑ์ที่คิดมาดีทั้งการใช้งานและการตลาดที่ตรงใจคนรุ่นใหญ่ และยังส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับทุกคน

ผ่านไปแล้วกับงานเสวนา Packaging For Seniors พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่ ออกแบบแพคเกจจิ้งอย่างไร ให้ผู้สูงวัยมีความสุข ที่ทาง SCGP ร่วมกับเพจมนุษย์ต่างวัย จัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่และผู้ประกอบการทราบถึงเคล็ดลับการออกแบบบรรจุภัณฑ์และการทำการตลาดของแบรนด์ให้ตรงใจคนรุ่นใหญ่ ตอบรับเทรนด์การเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย

 เปิดมุมมองใหม่ เข้าถึงใจผู้สูงอายุ

ในงานเริ่มต้นด้วยหัวข้อแรก ‘เจาะ insight ให้ลึกถึงใจ แพคเกจจิ้งแบบไหนที่ผู้สูงวัยต้องการ’ โดยได้ 3 วิทยากรตัวจริงมาบอกเล่าอินไซต์ เริ่มจากมุมมองทางด้านสุขภาพร่างกาย ผศ.พญ.ฐิติมา ว่องวิริยะวงศ์ จากสาขาอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ได้เล่าถึงความเสื่อมสภาพของร่างกายที่เปลี่ยนไปตามวัยซึ่งแต่ละคนอาจจะเจอปัญหาแตกต่างกัน อาการเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจึงอาจเจอได้ทั้งสายตาฝ้าฟาง โรคต้อกระจก ปัญหาเรื่องข้อต่อ กระดูก กล้ามเนื้อมือและแขนที่ส่งผลต่อการหยิบจับสิ่งของไม่สะดวก ไปจนถึงประสาทสัมผัสที่เสื่อมถอยลง ทั้งหมดส่งผลให้นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ต้องคำนึงถึงความสะดวกในการหยิบใช้งานของผู้สูงวัยเป็นอันดับต้น ๆ

เช่นกันกับ คุณอรสา ดุลยางกูล เจ้าของงานฝีมือแบรนด์ Craft in on ตัวแทนคนรุ่นใหญ่หัวใจวัยรุ่นที่มาเล่าอินไซต์ว่าผู้สูงอายุนั้นล้วนแต่อยากพึ่งพาตัวเอง ไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน ฉะนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับสิ่งของเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน จึงควรคิดถึงการออกแบบที่ใช้งานง่าย ใช้ได้จริง และปลอดภัย เช่น การใช้ตัวหนังสือที่ใหญ่ ใช้รูปภาพหรือสีของแพคเกจจิ้งที่แยกความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน จดจำได้ง่าย รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ นอกจากนี้ผู้สูงวัยก็ยังชื่นชอบแพคเกจจิ้งที่ออกแบบสวยงาม แข็งแรงทนทานและสามารถนำมาใช้ซ้ำ เพื่อใส่อุปกรณ์ข้าวของส่วนตัวในบ้านต่อได้เช่นกัน

นอกจากนี้ คุณรพิดา อัชชะกิจ เจ้าของเพจเข็นแม่เที่ยว ผู้มีประสบการณ์ดูแลคุณแม่ผู้ป่วยเป็นโรคทางสมองมากว่า 7 ปี ยังเสริมข้อมูลที่น่าสนใจว่าสำหรับผู้สูงอายุ การเลือกแพคเกจจิ้งที่ใช้งานได้จริงนั้นสำคัญกว่ายี่ห้อของผลิตภัณฑ์เสียอีก เพราะการแค่เปิดใช้งานสิ่งของเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ก็ถือเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยเยียวยาจิตใจและอารมณ์ของผู้สูงอายุในทุกวัน และยังแบ่งปันไปถึงความสุขของคนที่ดูแลด้วย

“เราต้องเปลี่ยนการซื้อของในบ้านทั้งหมด ไม่สามารถเลือกซื้อจากกลิ่นหรือแบรนด์ที่ชอบได้ แต่จะเลือกซื้อจากแพคเกจจิ้งที่คุณแม่สามารถใช้งานได้สะดวก เช่น ขวดปั๊ม ขวดซอสมะเขือเทศที่เปลี่ยนจากขวดแก้วมาเป็นขวดพลาสติกที่ใช้การบีบ”

ออกแบบแพคเกจจิ้งแบบไหน ดีต่อใจผู้สูงอายุ

การออกแบบบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหญ่ จึงมีรายละเอียดที่นักออกแบบรุ่นใหม่ต้องใส่ใจและเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้งานให้มากกว่าแค่ความสวยงาม ถ้าบรรจุภัณฑ์นั้นยิ่งสามารถใช้งานได้สะดวกกับทุกวัย ใช้ได้ง่ายทั้งครอบครัว ก็น่าจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพวกเราทุกคน

ต่อกันด้วยหัวข้อที่สอง ‘Design for Aging ออกแบบอย่างไรให้ตอบโจทย์ทั้งคุณภาพชีวิตและธุรกิจ’ ที่ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดด้วยการแบ่งปันข้อมูลเจาะลึกของการทำการตลาดให้กับคนสูงวัย หรือที่เรียกกันว่ากลุ่ม Silver Gen ทั้งข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปของคนสูงวัย ความสนใจเรื่องการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพ รวมถึงพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ที่ส่วนใหญ่ผู้สูงวัยมักจะเป็นคนตัดสินใจซื้อด้วยตัวเอง มีกำลังซื้อ และมักซื้อของทีละน้อย ๆ หรือซื้อทีละชิ้นเมื่อจำเป็นต้องใช้มากกว่า ข้อมูลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นหัวใจสำคัญของนักออกแบบที่จะคิดถึงการออกแบบแพคเกจจิ้งให้ตรงใจ รวมไปถึงคิดกลยุทธ์การขายที่ตรงเป้าหมายของผู้สูงวัย

“สำคัญมากคือต้องเข้าใจอินไซต์ของผู้ใหญ่ ว่าเขาอาจจะมองเห็นและตัดสินในสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกับคนรุ่นใหม่ การใช้เทคโนโลยีหรืองานออกแบบมินิมอลอาจจะสวยดีในสายตาเรา แต่สำหรับผู้สูงวัย สิ่งนั้นอาจจะไม่เหมาะสม ไม่ตอบโจทย์การใช้งานของเขาก็ได้ การมองและให้คุณค่าที่แตกต่างกันเลยเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการออกแบบ” ผศ.ดร.เอกก์ ย้ำ

พร้อมกันนี้ คุณสุริยา พิมพ์โคตร และคุณอรปวีณ์ บวรพัฒนไพศาล Food and Beverage Packaging Designer จาก SCGP ที่ทั้งคู่มาเล่าถึงกรณีศึกษาจริงของการออกแบบแพคเกจจิ้งเชิงรุก (Proactive Design) ที่นักออกแบบต้องลงไปพูดคุย สำรวจเพื่อเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าจนได้ออกมาเป็นงานออกแบบที่สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า รวมไปถึงการออกแบบแพคเกจจิ้งบนหลักการ Universal Design ที่เข้าใจง่าย ใช้งานสะดวก ผ่านการใช้สี รูปภาพหรือกราฟิกที่จะวัยไหนก็เข้าใจได้เหมือนกัน ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานให้ง่ายดาย และยังช่วยเติมเต็มความรู้สึกหลังใช้ผลิตภัณฑ์ ครบตามหลักของการตลาดที่ต้องคิดให้ครอบคลุมทั้งประโยชน์การใช้งานและความรู้สึกดี ๆ ที่ได้จากการใช้งานนั้น

พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่

SCGP เชื่อมั่นว่าพลังและไอเดียของคนรุ่นใหม่ จะสามารถสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ แม้จะต่างวัย ก็อยู่ร่วมกันได้แบบไม่ต่างใจกันในสังคมที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

นิสิตนักศึกษาผู้สนใจปล่อยไอเดียการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อผู้สูงวัยในการประกวด SCGP PACKAGING SPEAK OUT 2023 สามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 7 กันยายน 2566 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://thechallenge.scgpackaging.com/en/speakout