‘สายการบิน’ ส่งสัญญาณรัฐบาลใหม่ เสนอหนุน 6 ข้อ บูมอุตสาหกรรมการบิน ดึงนักท่องเที่ยวเข้าไทย

สายการบินส่งสัญญาณรัฐบาลใหม่ เร่งบูมอุตสาหกรรมการบิน เสนอสนับสนุน 6 เรื่อง วอนกำหนดขึ้นภาษีน้ำมันเป็นขั้นบันได กระตุ้นการท่องเที่ยว โชว์จุดขาย & Soft Power ไทย แนะลุยฟรีวีซ่า-Visa on Arrival ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย พร้อมผุด e-Passport อำนวยความสะดวก ด้านไทยเวียตเจ็ทเผยผลดำเนินงานครึ่งปีแรก 66 คาดปีนี้มีผู้โดยสาร 6.31 ล้านคน ครองอันดับ 2 ตลาดในไทย จ่อเช่าเครื่อง Boeing 737 Max วางเป้าฝูงบิน 50 ลำในปี 71

นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยเวียตเจ็ท เปิดเผยว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยนั้น ในฐานะของสายการบินภาคเอกชนเตรียมเสนอให้รัฐบาลใหม่ เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน 6 เรื่อง ได้แก่ 1.การกำหนดอัตราที่เหมาะสมของภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน โดยกำหนดให้ขึ้นภาษีฯ เป็นขั้นบันได

2.กระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนโยบายด้านต่างประเทศระหว่างไทยจีน เพื่อกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีน อีกทั้งหาจุดขายใหม่ๆ ของไทย และนำเสนอ Soft Power ผ่านการจัด Road Show ในต่างประเทศ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น 3.สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยพิจารณา Free Visa รวมถึงกำหนดให้มี Visa on Arrival (VOA) หรือวีซ่าที่ผู้ถือหนังสือเดินทางสามารถขอได้ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองในประเทศ เพื่อการท่องเที่ยวเป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน

4.สนับสนุนการเชื่อมต่อเที่ยวบิน โดยให้ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เป็นศูนย์กลางทางการบิน เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางผ่าน และกระจายนักท่องเที่ยวไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ 5.อำนวยความสะดวกบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) โดยการพัฒนาระบบ e-Passport สามารถใช้หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ เดินทางเข้าออกประเทศโดยไม่ต้องใช้เอกสาร เช่นเดียวกับประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา ฯลฯ และ 6.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความน่าสนใจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น

นายวรเนติ ยังกล่าวถึงผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2566 ว่า สายการบินไทยเวียตเจ็ทให้บริการผู้โดยสารรวมจำนวน 3.04 ล้านคน เติบโต 10.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และคาดการณ์ว่า ปี 2566 จะมีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) 80-85% มีผู้โดยสารจำนวน 6.5-7 ล้านคน เติบโตจากปี 2565 ที่มีผู้โดยสารจำนวน 5.8 ล้านคน ทั้งนี้ ในส่วนของเส้นทางบินระหว่างประเทศ ครึ่งปีแรก 2566 มีผู้โดยสารมากกว่า 729,000 คน( สิ้นเดือนมิถุนายน 2566) เติบโตของผู้โดยสารที่ 884% คาดการณ์ว่า ภายในสิ้นปี 2566 จะมีผู้โดยสารระหว่างประเทศกว่า 1.5 ล้านคน

ขณะเดียวกัน สายการบินไทยเวียตเจ็ท มีแผนเพิ่มเครื่องบิน Airbus A321 อีก 2 ลำเข้าสู่ฝูงบินภายในสิ้นปีนี้ เพื่อรองรับการขยายเครือข่ายเส้นทางบิน โดยจะทำให้ไทยเวียตเจ็ทมีจำนวนเครื่องบินในฝูงบินทั้งสิ้น 20 ลำ นอกจากนี้ยังมีแผนเช่าเครื่องบิน Boeing 737 Max โดยจะเริ่มทยอยรับมอบเครื่องบิน 6 ลำในช่วง .. 2567 ซึ่งจะทำให้สายการบินไทยเวียตเจ็ทมีฝูงบิน Boeing รวมทั้งหมด 50 ลำ ภายในปี 2571 อย่างไรก็ตาม ตามที่ก่อนหน้านี้ เครื่องบินBoeing 737 Max มีปัญหานั้น แต่ทาง Boeing ได้กลับไปพัฒนาแล้ว จึงมีความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย และความสะดวกสบายอย่างแน่นอน

ในครึ่งแรกของปี 2566 สายการบินฯ ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศเฉลี่ย 547 เที่ยวบิน และเที่ยวบินระหว่างประเทศเฉลี่ย 190 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทำให้สายการบินยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศเป็นอันดับ2 ไว้ได้นายวรเนติ กล่าว

นายวรเนติ กล่าวอีกว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ไทยเวียตเจ็ทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 103.63% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2565 โดยรายได้รวม แบ่งเป็น รายได้จากการจำหน่ายตั๋วโดยสาร 73.20% และรายได้จากบริการเสริมและบริการบนเครื่องบิน 26.72% ทั้งนี้ ภายในสิ้นปี 2566 ไทยเวียตเจ็ทตั้งเป้ารายได้รวมประมาณ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท เติบโต 72% จากปี 2565 ที่มีรายได้อยู่ที่ 9.8 พันล้านบาท จำนวนผู้โดยสารเติบโต 9% และรักษาส่วนแบ่งอันดับ 2 ในตลาดประเทศไทย โดยคาดว่าจะรองรับผู้โดยสารได้ทั้งหมด 6.31 ล้านคนภายในสิ้นปี 2566 

สำหรับไทยเวียตเจ็ทได้ร่วมมือกับเวียตเจ็ท กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศไทยและเวียดนามอันดับต้นๆ โดยนับตั้งแต่ .. 2566 เป็นต้นมา ไทยเวียตเจ็ทและเวียตเจ็ทกรุ๊ปให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศไทยและเวียดนามมากกว่า 4,200 เที่ยวบิน ให้บริการผู้โดยสารกว่า 683,000 คนในเครือข่ายเที่ยวบินที่กว้างขวางระหว่างทั้ง2 ประเทศ ได้แก่ เที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ สู่โฮจิมินห์ซิตี้ ดานัง ฟู้โกว๊ก และฮานอย เที่ยวบินระหว่าง ภูเก็ต สู่ฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ และเที่ยวบินจากเชียงใหม่ สู่โฮจิมินห์ซิตี้ โดยจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 446.36% ขณะที่จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 1,332.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า