‘การรถไฟฯ’ แจงภาพ ‘KIHA 183’ วิ่งฝ่าดงขยะ @ที่หยุดรถไฟพญาไท เผยรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง ลุยไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

“การรถไฟฯ” ระดมแรงงานกว่า 30 คน ลงพื้นที่ “ที่หยุดรถไฟพญาไท” เก็บขยะทำความสะอาด เร่งรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เตรียมล้อมรั้วป้องกันผู้บุกรุกเพิ่ม-คนนำขยะมาทิ้ง

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่สื่อสังคมออนไลน์ได้เผยแพร่ภาพรถไฟ KIHA 183 ที่การรถไฟฯ ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดินขบวนรถผ่านชุมชนแออัดบริเวณพญาไท เปรียบเทียบความสวยงามกับภาพขบวนรถไฟ KIHA 183 ที่เดินรถอยู่บนรางรถไฟที่เต็มไปด้วยหิมะ ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น

ทั้งนี้ ภาพการเดินขบวนรถไฟ KIHA 183 ที่มีการโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการเดินรถบนเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ระหว่างที่หยุดรถอุรุพงษ์-ที่หยุดรถไฟพญาไท ซึ่งขณะนี้บริเวณดังกล่าว อยู่ระหว่างการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างของผู้บุกรุกที่อาศัยอยู่ในแนวโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้แก่เอกชนผู้ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน นำไปดำเนินโครงการฯ ต่อไป

​นายเอกรัช กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประชาชนผู้บุกรุกได้ทยอยออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขยะส่วนใหญ่มาจากการรื้อถอนบ้านผู้บุกรุก ที่ทำให้มีทั้งเศษวัสดุหลังคากระเบื้อง ไม้อัด และสังกะสีแล้ว ยังมาจากประชาชนผู้บุกรุกบางส่วนนำขยะมาทิ้งด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้ฝ่ายการช่างโยธา การรถไฟฯ และเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ร่วมประสานงาน และระดมแรงงานกว่า 30 คน ลงพื้นที่ทำความสะอาด และเก็บขยะบริเวณที่มีการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างของผู้บุกรุก รวมทั้งบริเวณเส้นทางรถไฟ ซึ่งหลังจากนี้จะนำรถแบ๊คโฮเข้าหน้างาน และตักขยะส่วนที่เหลือออกไปด้วย ก่อนส่งมอบให้เอกชน

สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น การรถไฟฯ ได้เตรียมการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร โดยได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการกั้นพื้นที่ ตลอดจนทำการประชาสัมพันธ์ และติดป้ายประกาศห้ามบุกรุก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกลับมาบุกรุกในพื้นที่เพิ่ม และนำขยะมาทิ้งในที่ดินของการรถไฟฯ อีก อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างที่หยุดรถอุรุพงษ์-ที่หยุดรถพญาไท มีระยะทางประมาณ 1,200 เมตร ก่อนหน้านี้มีผู้บุกรุกอยู่อาศัยเต็มพื้นที่ตลอดแนวประมาณ 100 หลังคาเรือน

นายเอกรัช กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมานายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชนฯ และมอบนโยบายเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุก และหาทางออกร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขอย้ำว่าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดิน การรถไฟฯ มีแนวทางปฏิบัติโดยยึดหลักตามความถูกต้องของกฎหมาย ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และสามารถดูแลพิทักษ์การใช้ทรัพย์สินของการรถไฟฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันการรถไฟฯ มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนของรัฐด้วย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้การรถไฟฯ ต้องเข้าดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของผู้บุกรุกบางส่วนที่ยังไม่ออกจากพื้นที่ตามกฎหมายต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น จากการที่รัฐส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนล่าช้าต่อไป”