อ่านเลย! การเลือกตั้ง กับ “SDGs” เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

เกาะกระแสเลือกตั้งทุกคนที่ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาสังคมไทยให้น่าอยู่และยั่งยืน คนรุ่นใหม่มองเรื่อง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (Goals) จาก “องค์การสหประชาชาติ” (United Nations) เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อเป็นตัวแทนประชาชนในการช่วยกันขับเคลื่อนสร้างสังคมแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย

โดยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 ข้อ แยกได้เป็น 5มิติ 1.มิติด้านสังคม (People) 2.มิติด้านเศรษฐกิจ (Prosperity) 3.มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Planet) 4.มิติด้านสันติภาพ(Peace) 5.มิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ซึ่งทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกัน ช่วยในการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันของทุกสังคมชนชั้น สร้างโลกที่สมดุล ไม่มีความยากจน ความหิวโหยจะมีแต่สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาที่ทั่วถึง ความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นพันธกิจร่วมของประเทศ 193 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ซึ่งหากวิเคราะห์ให้ดีแล้ว ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกับภาคการเมือง ที่จะต้องบริหารประเทศชาติและสังคมโดยตรง

ดร.กุลบุตร โกเมนกุล หัวหน้าหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน เทคโนโลยีการเงินและการลงทุน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าโครงการสำรวจสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทประเทศไทย และทางเลือกมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ สังคม และกฎหมาย เป้าหมายที่ 17 โดยได้รับทุนSDG Move Thailand สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่าง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเลือกตั้งผู้บริหารประเทศไทย ว่า  

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นกรอบระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเปรียบเสมือนแนวทางสำหรับรัฐบาล และองค์กรระหว่างประเทศเกี่ยวกับวิธีการส่งเสริมความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แม้ว่า SDGs จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี หรือ เลือกตั้งผู้บริหารประเทศ แต่ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือหลักในการประเมินนโยบาย และเวทีของผู้สมัครรับเลือกตั้งได้“

ทั้งนี้ ในประเทศที่เข้าใจในเรื่อง SDGs ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง ต้องคำนึงถึงเป้าหมายเหล่านี้ในการหาเสียงและต้องแถลงเรื่องนี้ในเวทีการหาเสียง บอกนโยบายของตน  นักการเมืองจะได้รับการประเมินจากประชาชนโดยพิจารณาจากนโยบาย และข้อเสนอนโยบายที่สอดคล้องกับSDGs ตัวอย่างเช่น นโยบายของพรรคให้ความสำคัญกับการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนหรือไม่? พรรคนี้ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศแค่ไหน? พรรคนี้มีกลไกสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างไร? ผู้ลงคะแนนเสียงในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมองเรื่อง SDGs ว่านักการเมืองที่ตนจะเลือกต้องให้ความสำคัญมากๆ

นอกจากนี้ ตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีก็ควรต้องแสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตาม SDGs เพราะเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับชาติและระดับโลก แคนดิเดตายกรัฐมนตรีต้องสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาที่ยั่งยืน รู้จักการระดมทรัพยากร และแสวงหาความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDGs และเป็นตัวแทนที่เข้าใจเรื่องนี้เมื่อปรากฏตัวในระดับเวทีโลก ดังนั้นประชาชนในประเทศต้องให้ค่าความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการเลือกตั้งก่อน” ดร.กุลบุตร กล่าว

ทางด้านฝั่งตัวแทนนักศึกษา กัญญาวีร์ เจริญพร และ วรกร คงตุก ซึ่งเป็นนักศึกษารางวัลนพรัตน์ทองคำ ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ในปีล่าสุด ได้มองตรงกันว่า “คนรุ่นใหม่พร้อมจะเอาความรู้และความคิดนวัตกรรมใหม่ๆ มาสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามในการขับเคลื่อนให้กับสังคม คนรุ่นใหม่มองนักการเมืองไทยในมิติเรื่อง SDGs ด้วยเพราะเป็นนโยบายที่คนรุ่นใหม่แคร์ นักการเมืองสามารถเริ่มพูดเรื่อง SDGs ได้ตั้งแต่วันนี้และการเลือกตั้งของคนรุ่นใหม่พร้อมที่จะเลือกคนที่เข้าใจ SDGs

สำหรับเรื่อง SDGs ในบทบาทของนักศึกษา กัญญาวีร์ เจริญพร ซึ่งเป็นนักศึกษาวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) มองว่า “เรื่อง SDGs เริ่มต้นได้ทั้งที่ตัวเราทำด้วยตนเอง และ เริ่มที่เราทำกับสังคมรอบตัวเรา ทั้งในระดับสถาบันการศึกษาและการเลือกตัวแทนพรรคการเมืองที่มีนโยบายด้านนี้  อนาคตจะดีได้ก็จะต้องพัฒนาขึ้นมา และดูจากอดีตว่าได้กระทำอะไรไป เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นแค่ส่วนหนึ่งของ SDGs แต่ยังมีข้ออื่นๆ อีกมากมายที่เราต้องตระหนักและใส่ใจ  หลังจากได้มาอยู่ในชมรม SDGs ของ DPU แล้วได้ไปดูงาน Sustainability Expo 2022 ที่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ พอตัวเองได้ศึกษาและเรียนรู้เรื่อง SDGs มากยิ่งขึ้นทำให้ส่วนตัวรู้สึกว่า SDGs จำเป็นและเป็นสิ่งสำคัญมาก มองว่านักการเมือง พรรคการเมืองก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มาก อนาคตของสังคมเราถึงจะเป็นไปในทิศทางที่ยั่งยืนขึ้นได้”

สอดคล้องกับ วรกร คงตุก นักศึกษาวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ (CIM) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ที่มอง SDGs ว่า  หลังรู้จัก SDGs ในช่วงของปี 2563 จากการเข้าร่วมกิจกรรมของยุวชนประชาธิปไตย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทางองค์การสหประชาชาติ ร่วมสนับสนุนขับเคลื่อนส่งเสริมการศึกษา SDGs ด้วย ทำให้ทราบถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำของเด็กบนเกาะฮั่ง จังหวัดกระบี่ ทำให้เรามองเห็นความจำเป็นของการที่เราต้องร่วมมือกันให้มากขึ้นและเห็นว่าพรรคการเมืองก็ควรต้องพูดถึงนโยบายด้าน SDGs ให้ชัดเจน

ซึ่งทั้ง 17 ข้อของ SDGs มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันประชาชนทุกคน เชื่อมโยงต่อยอดไปครอบครัว การทำงาน องค์กร สังคม ในทุกมิติ ถ้าทุกคนตระหนักรู้เรื่องนี้ จะทำให้เกิดพลังพลเมืองตื่นรู้ร่วมเเก้ไขปัญหาของสังคมในทุกมิติได้ สำหรับตัวเองก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างฝายชะลอน้ำและเติมความสุขให้น้องอย่างยั่งยืน ที่ ต.หนองเเดง อ.แม่จริม จ.น่าน กับทางมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งทำแคมเปญร่วมบริจาคอุปกรณ์การเรียนให้กับเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ทำให้เข้าใจว่าทุกคนสามารถลุกขึ้นมาทำอะไรได้ ไม่มากก็น้อย ในเรื่องเกี่ยวกับความยั่งยืน และ อยากจะให้ผู้ที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพูดถึงนโยบายของตนต่อเรื่อง SDGs ให้ชัดเจน