ทอท.กางแผนพัฒนาดอนเมือง เฟส 3 จ่อชงบอร์ดไฟเขียวปลายปีนี้ เริ่มสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 พ่วงขยายทางวิ่ง 6 เลนเชื่อมโทลล์เวย์ เปิดปี 70

ทอท. เร่งออกแบบรายละเอียดดอนเมือง เฟส 3” จ่อชงบอร์ดเคาะปลายปีนี้ ก่อนลุยเปิดประมูล วางเป้าเริ่มก่อสร้างปี 67 เปิดบริการปี 70 รองรับผู้โดยสารปีละ 50 ล้านคน พร้อมกางแผนขยายทางวิ่ง 6 เลน รับส่งผู้โดยสารด้านหน้าอาคารฯ แก้จราจรหนาแน่น พ่วงเชื่อมต่อโทลล์เวย์ อำนวยความสะดวกผู้โดยสาร

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 (เฟส 3) วงเงินประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาทว่า ขณะนี้ ทอท. ได้ผู้รับจ้างออกแบบรายละเอียด (Detail Design) โครงการฯ วงเงินกว่า 600 ล้านบาทแล้ว จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 10 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. พิจารณาได้ในปลายปี 2566

ทั้งนี้ หากบอร์ด ทอท. พิจารณาเห็นชอบ จะเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการฯ ต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 ใช้เวลาประมาณ 3 ปี และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2570 จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานดอนเมืองได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันรองรับผู้โดยสารได้ 30-40 ล้านคนต่อปี เป็นประมาณ 50 ล้านคนต่อปี

นายกีรติ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 ประกอบด้วย การก่อสร้างหลุมจอดอากาศยานด้านทิศเหนือ เพิ่มเติม 12 หลุมจอด, ปรับปรุงอาคารคลังสินค้าเดิม และการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 ซึ่งเดิมเป็นอาคารในประเทศ และถูกปิดใช้งานมานาน โดยจะทุบรื้อสร้างเป็นอาคารระหว่างประเทศหลังใหม่ทั้งนี้ เมื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 แล้วเสร็จ ทอท. จะย้ายการให้บริการระหว่างประเทศจากอาคาร 1 มาที่อาคาร 3 แทน

จากนั้นจะปิดการให้บริการอาคาร 1 เพื่อดำเนินการปรับปรุง (รีโนเวท) อาคารดังกล่าว หลังจากไม่ได้รับการปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะปรับการให้บริการของอาคาร 1 เป็นอาคารภายในประเทศ เชื่อมต่อกับอาคาร 2 ซึ่งเป็นอาคารภายในประเทศหลังปัจจุบัน ส่วนพื้นที่ของอาคาร Service Hall หากในอนาคตพบว่า ไม่มีความจำเป็นในการรองรับกรุ๊ปทัวร์แล้ว เพราะกรุ๊ปทัวร์ส่วนใหญ่จะใช้บริการอาคารระหว่างประเทศ ก็จะปรับเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้บริการร้านค้า และร้านอาหารแทน

นายกีรติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ทอท. จะเพิ่มช่องจราจรที่ให้บริการภายใน ทดม. ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีขนาด 4 ช่องจราจร ปรับเป็น 6 ช่องจราจร และจะเชื่อมต่อทั้งทางเข้าออกกับทางยกระดับอุตราภิมุข หรือ ดอนเมืองโทลล์เวย์ เพื่ออำนวยความะสะดวกในการเดินทางให้ผู้ใช้บริการ และลดปัญหาจราจรติดขัดในท่าอากาศยานดอนเมืองด้วย

โดยในส่วนของทางเชื่อมดอนเมืองโทลล์เวย์นั้น ต้องหารือกับกรมทางหลวง (ทล.) และบริษัท ทางยกระดับดอนเมืองจำกัด (มหาชน) พิจารณาร่วมกันต่อไป โดยเฉพาะผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานระหว่าง ทล. และบริษัท ทางยกระดับดอนเมืองฯ รวมถึงการลงทุนส่วนที่ยื่นออกไปนอกรั้วท่าอากาศยานดอนเมืองที่บริษัท ทางยกระดับดอนเมืองฯ ต้องเป็นผู้ลงทุน ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นบริษัทฯ ยังไม่ได้ตอบรับ เพราะกำลังจะหมดสัญญาสัมปทาน อย่างไรก็ตาม จะดำเนินการคู่ขนานกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 หรือแล้วเสร็จในปี 2570

นายกีรติ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนความคืบหน้าการจัดทำระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ที่จะให้บริการภายในท่าอากาศยานดอนเมืองนั้น ไม่ได้รวมอยู่ในโครงการพัฒนาดอนเมือง เฟส 3 จะรวมอยู่ในแผนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้านใต้ของท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งจะเปิดประมูลต่อไป อย่างไรก็ตามอาคารผู้โดยสารทั้ง 3 อาคาร ผู้โดยสารยังสามารถเดินเชื่อมต่อกันได้ทั้ง 3 อาคาร ระยะทางไม่มากนัก ไม่จำเป็นต้องใช้ APM ได้ แต่หากมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้านใต้ จำเป็นต้องมี APM เพราะมีระยะทางห่างจากอาคารผู้โดยสารค่อนข้างมากกว่า 1 กิโลเมตร (กม.)