“ดีอีเอส – ไปรษณีย์ไทย”เปิดตัวระบบ “ดิจิทัลโพสต์ไอดี”พลิกโฉมการขนส่ง

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ไปรษณีย์ไทย เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เปิดตัวดิจิทัลโพสต์ไอดี (Digital Post IDทางเลือกใหม่ที่พัฒนาขึ้นจากการใช้ชื่อ ที่อยู่  ให้เกิดการระบุตำแหน่ง สถานที่ และการขนส่งแบบ Easy Privacy Security และ Digital Economy อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ได้ เช่น การพัฒนาเส้นทางขนส่ง การป้องกันการปลอมแปลงตัวตน การเงินและการธนาคาร ฯลฯ ทั้งนี้ การพัฒนาดิจิทัลโพสต์ไอดี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ และรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าประชาชนจะมีรหัสดิจิทัลโพสต์ไอดีของตนเอง และเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนภายในปี 2567

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานในสังกัดได้เร่งขับเคลื่อนเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ของเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในปี 2566 ที่คาดว่าการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ   ของคนทั่วโลกจะต้องพึ่งพาระบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการเงิน การดำเนินธุรกิจ การลดช่องว่างทางด้านความปลอดภัย การจัดการข้อมูล การขนส่ง และอื่น ๆ อีกหลายประเภท ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนวัตกรรมดิจิทัล ตามแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (พ.ศ. 2561 – 2565) มีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการระบุข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล หรือเรียกว่า  “ดิจิทัลโพสต์ไอดี : Digital Post ID โดยมอบหมายให้ไปรษณีย์ไทย ในฐานะหน่วยงานในการกำกับดูแล ดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาต่อยอดจากรหัสไปรษณีย์ที่ใช้ตัวเลขห้าหลัก ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานการจัดส่งสิ่งของของไทย มากว่า 40 ปี โดยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งให้มีความสามารถระบุตำแหน่งด้วยรหัสดิจิทัลโพสต์ไอดี ที่สามารถ ถูกแปลงเป็นพิกัดที่อยู่ของประชาชนภายในประเทศไทยได้ถึงระดับครัวเรือน พร้อมกันนี้ ยังสามารถรักษา ความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว ของข้อมูลส่วนบุคคลของภาคประชาชน

 นอกจากนี้ ดิจิทัลโพสต์ไอดีไม่เพียงแค่สร้างประโยชน์ในภาคการขนส่ง หรือการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่ภาคส่วนและกิจกรรมอื่น ๆ ได้อีกหลากหลาย เช่น การพัฒนาเส้นทางขนส่ง การรองรับระบบการขนส่งในอนาคตที่ไม่ใช้คนขับ (Unmanned Vehicle) การป้องกันการปลอมแปลงตัวตน การสนับสนุนสิ่งของช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ ในกรณีที่ทราบพื้นที่ประสบภัย การสนับสนุนนโยบายด้านสุขภาพ อาทิ ช่วยเหลือผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน จัดเก็บข้อมูลผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ ส่งเสริมการแพทย์ทางไกลเพื่อลดความแออัดในการเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล การหาพิกัดสถานที่ท่องเที่ยว วางแผนบริหารจัดการพื้นที่การเกษตร วางผังเมืองและบริหารทรัพยากรธรรมชาติ กำหนดเขตเลือกตั้ง ข้อมูลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งด้านการเงินและการธนาคาร การโฆษณาสินค้าให้กับกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจผลิตภัณฑ์หรือบริการเฉพาะทางเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศ

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยได้เตรียมปรับเปลี่ยนรูปแบบการระบุข้อมูลตำแหน่งที่อยู่เดิมให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล หรือดิจิทัลโพสต์ไอดี โดยต่อยอด จากการใช้รหัสไปรษณีย์ 5 หลัก ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการส่งไปรษณีย์ในประเทศไทยที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 มาแปลงเป็นพิกัดที่ตั้งบนพื้นผิวโลกในประเทศไทย ด้วยหลักการทำงานเดียวกับระบบการหาตำแหน่งบนพื้นผิวโลก  หรือ GPS โดย 1 คน สามารถมีได้หลายที่อยู่ และสามารถเปลี่ยนแปลงที่อยู่ชั่วคราวในระบบได้เมื่อจำเป็น   ต้องเดินทางไปต่างพื้นที่ ทั้งนี้ แต่เดิมรหัสไปรษณีย์ 5 หลักจะบอกได้ถึงเขตพื้นที่เท่านั้น แต่ดิจิทัลโพสต์ไอดีจะระบุได้ถึงพิกัดตำแหน่งด้วยการปักหมุด บอกพิกัดแนวดิ่งได้ทำให้สามารถระบุที่อยู่สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารสูงได้แม่นยำยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลบนจ่าหน้า ป้องกันการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง   ที่ถูกต้อง แม่นยำ โดยภายในปี 2567 คาดว่าประชาชนจะมีรหัสดิจิทัลโพสต์ไอดีของตนเองที่จำได้ง่ายมาแทน การเขียนจ่าหน้าแบบเดิมพร้อมกันทั่วประเทศ

 เพื่อรองรับการมีดิจิทัลโพสต์ไอดี ในอนาคตที่ทำการไปรษณีย์หรือผู้ให้บริการโลจิสติกส์จะมีเครื่องพิมพ์ฉลากในรูปแบบ QR Code ที่เป็นดิจิทัลโพสต์ไอดีแปะบนกล่องพัสดุ หรือซองเอกสาร โดยผู้รับและผู้ส่งมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่หลุด เนื่องจากบนจ่าหน้ากล่อง/ ซอง จะไม่ปรากฏข้อมูลส่วนบุคคล ต้องใช้ แอปพลิเคชันบนอุปกรณ์อ่าน QR Code เท่านั้น ถึงจะโชว์ข้อมูลผู้รับ – ผู้ส่ง และ QR Code จะเป็นแบบใช้งานได้ครั้งเดียวเท่านั้น อีกทั้งยังมีการจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ตามหลักการของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ ยังจะทำให้มั่นใจในการสั่งซื้อสินค้า e-Commerce ได้มากขึ้น เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งสินค้าทั้งหมดได้อย่างแม่นยำอีกด้วย

 “ไปรษณีย์ไทยมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องด้วยระบบดิจิทัล และบิ๊กดาต้าเพื่อสนับสนุนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทั้งนี้ในส่วนของดิจิทัลโพสต์ไอดี จะเริ่มขับเคลื่อนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 และได้เชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ภาคเอกชน อาทิ กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มสาธารณสุข ผู้ให้บริการขนส่ง มาให้ความเห็น และร่วมกันขับเคลื่อนให้สำเร็จ พร้อมเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระบบ บูรณาการกับทุกหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อคนไทย”