“นิด้า”ย้ำจุดยืนมุ่งผลิตนักวิเคราะห์ตัวจริง!! สู่ Smart Logistics ตอบโจทย์งานยุค Digital Supply Chain

 

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญของประเทศไทยที่จะช่วยสนับสนุนและยกระดับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ดีปัจจุบันบริบทของโลจิสติกส์ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เหมือนกับธุรกิจอื่นเมื่อเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ต่างต้องปรับตัวนำเทคโนโลยี Smart Logistics ที่มีบทบาทสำคัญต่อภาคธุรกิจ ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่เพียงแต่ใช้ในกระบวนการขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการวางแผน ควบคุมการเคลื่อนไหวของสินค้าและบริการ รวมถึงการส่งข้อมูลไปยังลูกค้า ทำให้กระบวนการต่างๆ เชื่อมต่อกันได้อย่างไร้รอยต่อ

เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การสร้างความเชี่ยวชาญของบุคลากรด้านโลจิสติกส์จึงเป็นหน้าที่สำคัญของสถาบันการศึกษา ซึ่งในเรื่องนี้หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า ได้มีการปรับเปลี่ยนรายวิชาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยเน้นย้ำจุดยืนที่ชัดเจนคือ การสร้างบุคลากรโลจิสติกส์ที่มีความเชี่ยวชาญสูงด้านการวิเคราะห์ทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน ตอบโจทย์อุตสาหกรรมในปัจจุบันและแก้ปัญหาได้จริง

ดร.อัครนันท์ พงศธรวิวัฒน์ อำนวยการหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ ปริญญาโท คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เปิดเผยว่า การพัฒนาบุคลกรให้มีทักษะระดับสูงเพื่อตอบรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สาชาวิชา การจัดการโลจิสติกส์ นิด้าฯ ได้ออกแบบ 2 หลักสูตร ได้แก่ 1. หลักสูตรระดับปริญญาโท ที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์เชิงปริมาณและเพิ่มทักษะให้บุคลากรที่มีทักษะสามารถจัดการข้อมูล และการประยุกต์องค์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์และสถิติขั้นสูงเพื่อให้เหมาะสมกับปัญหาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเน้นสร้างความเชี่ยวชาญ 4 วิชาหลัก ได้แก่ 1. วิชาการจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management) ซึ่งเป็นต้นทุนหนึ่งของโลจิสติกส์ที่สำคัญสูง ถ้าองค์กรไหนสามารถบริหารจัดการได้ดีก็สามารถกำไรได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งเนื้อหาภายในวิชานี้ได้มีการพัฒนา ตัวแบบต่างๆจากประสบการณ์ของอาจารย์ที่มีประสบการณ์การทำวิจัยมายาวนาน นำมาประยุกต์ใช้กับกรณีต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. วิชาการออกแบบเส้นทางและวิเคราะห์การขนส่ง (Transportation and Distribution Management) ซึ่งมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ตั้งแต่ตัวแบบอย่างง่ายจนถึงตัวแบบขั้นสูงสำหรับปัญหาออกแบบเส้นทางในการจัดการขนส่งเพื่อให้มีต้นทุนต่ำที่สุด รวมถึงการพิจารณาในด้านอื่นๆด้วย เช่น การบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้คุ้มทุนที่สุด และการบริหารขนส่งภายใต้กรอบเวลาที่จำกัด เป็นต้น 3. วิชาการหาค่าที่เหมาะที่สุดของโซ่อุปทาน วิชาที่เป็นจุดแข็งของหลักสูตรที่จะช่วยให้นักศึกษาสามารถวิเคราะห์ธุรกิจได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำหรือทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อออกแบบให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และ 4. วิชา Smart Logistics ซึ่งเป็นวิชาที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความสำคัญกับการจัดการโลจิสติกส์ ตัวอย่างเช่น ระบบอัตโนมัติในการจัดการคลังสินค้า เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี เทคโนโลยีตรวจติดตามภายในอาคาร เพื่อมาช่วยจัดการกิจกรรมทางโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

2. หลักสูตรปริญญาเอก ที่จะมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสูงสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลด้านโลจิสติกส์ ในปัจจุบันข้อมูลทางด้านโลจิสติกส์จะเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ และเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ ดังนั้นทักษะที่นักศึกษาปริญญาเอกจะต้องประยุกต์ใช้คือ การเรียนรู้การบริหารจัดการจัดเก็บข้อมูล และเลือกใช้ตัวแบบทางคณิตศาสตร์และสถิติลงลึกเพื่อแก้ปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“จากที่ได้กล่าวมาจะเห็นได้ว่านักศึกษาทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของการจัดการโลจิสติกส์ ฯนิด้า นอกเหนือจะได้ความรู้ทางด้านทฤษฎีแล้ว ยังได้เรียนรู้จริง ปฏิบัติจริง จากห้องปฏิบัติการจริง คือ ห้องปฏิบัติการ Smart Logistics Lab พร้อมทั้งความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีทันสมัยที่ใช้ในประกอบการเรียนการสอน นอกจากนั้น หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ นิด้า ได้มีเปิดการเรียนการสอนมาแล้วกว่า 13 ปี ทำให้เน้นย้ำในจุดเด่นของหลักสูตรได้ว่า การจัดการโลจิสติกส์ของนิด้าให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องหลักคือ 1.ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณหลากหลายรูปแบบ 2.การมุ่งเน้นเรื่อง Smart Logistics และ 3.การรับมือและวางแผนในธุรกิจโลจิสติกส์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้” ดร.อัครนันท์ กล่าว

ดร.อัครนันท์ กล่าวอีกว่า การจัดการโลจิสติกส์ นิด้า ให้ความสำคัญกับ Smart Logistics เป็นอย่างมาก จึงได้สร้างห้องปฏิบัติการ Smart Logistics Lab ขึ้น โดยได้มีการรวบรวมระบบเทคโนโลยีที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวระบบการจัดการคลังสินค้าอัตโนมัติหรือ ASRS จำลอง การประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ Shuttle Robot ในการขนย้ายสินค้าให้มีความแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นมีการนำเทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาร์เอฟไอดี และระบบตรวจติดตาม (Tracking systems) ต่างๆ ด้วยเทคโนโลยี Ultra-Wideband (UWB) เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านการออกแบบจากผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญ ดังนั้นนักศึกษาที่จบจาก การจัดการโลจิสติกส์ นิด้า จะเป็นบุคลการที่มีทักษะทางการจัดการโลจิสติกส์ขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นทักษะการวิเคราะห์เชิงปริมาณ ทักษะการคิดวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผล และทักษะในการประยุกต์และเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาโลจิสติกส์ในปัจจุบัน

Smart Logistics ก้าวเข้ามามีความสำคัญเป็นอย่างมากในการจัดการอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ยุคปัจจุบัน เพราะอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ต้องการระบบบริหารจัดการที่สามารถตรวจสอบ ตรวจจับ และเรียนรู้ที่จะแก้ไขด้วยตัวเองได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการแข่งขันภายใต้การแข่งขันที่รวดเร็วได้อย่างยั่งยืน ผนวกกับปริมาณของข้อมูลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน การนำเทคโนโลยีการวิเคราะห์เข้ามาประยุกต์ใช้ จึงก้าวเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักในการพัฒนา Smart Logistics ให้แก้ไขและรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในปัจจุบันมีการเติบโตค่อนข้างมาก และเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย เพื่อให้การตอบรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรม4.0 บุคลากรด้านโลจิสติกส์นอกจากมีความรู้ด้านการจัดการแล้ว การจัดการข้อมูลต้องแข่งกับเวลา ต้องตอบรับการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าที่รวดเร็วมาก ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตสวนทางกับสภาวะของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอื่นๆเป็นอย่างมาก ดังนั้นการที่จะทำให้โลจิสติกส์เติบโตอย่างยั่งยืนคือการจัดการข้อมูลให้มีประโยชน์ มีประสิทธิภาพและสามารถเพิ่มศักยภาพในการการแข่งขันได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ของนิด้า จึงมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพสูงในการจัดการโลจิสติกส์ที่มีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลและการบริการกิจกรรมโลจิสติกส์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์