‘ขนส่งฯ’ เร่งจดทะเบียน ‘มอเตอร์ไซต์วิน’ ให้บริการผ่านแอพฯ ถูก กม. เผยลงทะเบียนทั่วประเทศกว่า 2.8 หมื่นราย คาดแล้วเสร็จต้นปี 66

ขนส่งทางบกเผยยอดรถ จยย. ป้ายดำ ลงทะเบียนผู้ได้รับผลกระทบทั่วไทย กว่า 2.8 หมื่นราย เฉพาะ กทม.รวม 2 หมื่นราย เตรียมจัดกลุ่มอบรมทำใบขับขี่สาธารณะ พร้อมลุยจดทะเบียนรถป้ายเหลือง คาดแล้วเสร็จต้นปี 66 ยันช่วยเพิ่มทางเลือกการเดินทางของ ปชช.

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยถึงผลการเปิดรับลงทะเบียนให้ผู้ขับรถจักรยานยนต์ (จยย.) ส่วนบุคคล หรือป้ายดำ ที่ประสงค์จะให้บริการรับส่งผู้โดยสารผ่านระบบแอพพลิเคชันทุกแพลตฟอร์ม สามารถลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ Google Forms “ลงทะเบียน Rider ผู้ได้รับผลกระทบว่า ตามที่ ขบ. ได้เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 มิ..-26 .. 2565 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ลงทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 28,000 รายทั่วประเทศ แบ่งเป็น ในพื้นที่กรุงเทพฯ 20,000 ราย และต่างจังหวัด 8,000 ราย

ในขณะนี้ ขบ.อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล เพื่อไม่เกิดความซ้ำซ้อน และได้ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจริง ซึ่งในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ 20,000 รายนั้น หลังจากนี้ขบ.จะดำเนินการจัดระเบียบผู้ขับรถให้ถูกกฎหมาย โดยจะทยอยจัดกลุ่มผู้ขับรถ จยย. เพื่อเข้าอบรมขอใบอนุญาตใบขับรถสาธารณะ ซึ่งจะต้องเชิญบริษัทผู้ให้บริการผ่านแอพฯ มาด้วย ซึ่งในเบื้องต้นจะแบ่งกลุ่มอบรมครั้งละ 200-300 คน

ทั้งนี้ จะพิจารณาเปิดการอบรมในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เพื่อไม่ให้กระทบผู้ใช้บริการในวันธรรมดา และ จัดเตรียมความพร้อมของสถานที่ในการอบรมให้เหมาะสม รวมทั้งดำเนินการเรื่องนำรถมาจดทะเบียนเป็นป้ายสาธารณะ (ป้ายเหลือง) เนื่องจากผู้ที่ลงทะเบียน ต้องนำรถมารับส่งผู้โดยสารผ่านแอพฯ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หรือแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2566

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนั้น จะต้องมีมติร่วมกันของคณะกรรมการประจำกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ขบ., กองบัญชาการตำรวจนครบาล, กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการจัดระเบียบรถ จยย. สาธารณะ (ป้ายเหลือง) เพื่อรับรองรถ จยย.เข้าสู่ระบบตามกฎหมายต่อไป ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดจำนวน 8,000 ราย ต้องดำเนินการควบคู่เช่นเดียวกัน

นายจิรุตม์ กล่าวอีกว่า ในระหว่างที่ดำเนินการเรื่องดังกล่าว เข้าสู่ระบบตามกฎหมายนั้น ผู้ขับขี่ จยย. ยังสามารถให้บริการได้ตามปกติ จนกว่าจะเข้าสู่ระบบให้บริการรถ จยย. รับจ้างผ่านแอพฯ ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการผ่านแอพฯ ในการรับส่งผู้โดยสารต้องไม่ให้ทับซ้อนกับผู้ขับรถ จยย. รับจ้างในวิน จยย. ที่มีอยู่เดิม เพื่อไม่ให้เกิดการทะเลาะวิวาทหรือการบริหารจัดการเรียกใช้ผ่านแอพฯ ต้องห่างจากบริเวณตำแหน่งที่วิน จยย. ตั้งอยู่เล็กน้อย ซึ่งผู้ให้บริการแอพฯต้องดำเนินการเรื่องดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การดำเนินการดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ของผู้ขับรถ จยย. ในระบบที่ให้บริการในกรุงเทพฯและปริมณฑล กว่า 80,000 คัน ซึ่งสามารถให้บริการรับส่งผู้โดยสารในพื้นที่วิน จยย. ตั้งอยู่ และในพื้นที่ที่กำหนดรวมทั้งสามารถเข้าไปเป็นสมาชิกให้บริการแอพฯ ได้อีกด้วย เพื่อมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มทางเลือก และอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ