หนุนภาคอุตฯ New S Curve ใช้ ‘หุ่นยนต์-ออโตเมชั่น’ คาดตลาดโต 5 แสนล้านภายใน 3 ปี

ดันใช้หุ่นยนต์-ออโตเมชั่น หลังตลาดอุตฯหุ่นยนต์ไทยบูม! คาดแตะ 5 แสนล้านบาทภายใน 3 ปี “ดร.ชิต” เผยยอดขอลงทุนจาก BOI ใช้หุ่นยนต์ในพื้นที่อีอีซีกว่า 3 แสนล้านบาท จ่อชง ครม.ปลดล็อคเงื่อนไขดึงต่างชาติลงทุน ด้าน “ทีเส็บ” สนองนโยบายรัฐ “ไทยแลนด์ 4.0” ลุยจัดงานแสดงหุ่นยนต์ในไทย พร้อมผุดแคมเปญ “360 องศา” ดันไทยสู่ฮับอาเซียน

ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม (Factory Automation) ถือเป็นกลุ่ม New S Curve ที่สามารถสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเกี่ยวโยงเกือบจะทุกภาคส่วนธุรกิจที่ต้องการนำเทคโนโลยี ระบบ Big Data และนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาบริหาร รวมถึงลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าภายใน 3 ปีนับจากนี้ ปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์และออโตเมชั่นในไทยจะอยู่ที่ 4-5 แสนล้านบาท ขณะที่ ด้านฝั่งซัพพลาย คาดว่าจะมีการลงทุนรวมทั้งสิ้น 2-3 หมื่นล้านบาทจากกลุ่มทุนต่างประเทศขนาดใหญ่โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ทั้งนี้ จากการเปิดเผยตัวเลขขอรับการลงทุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นั้น มีการขอลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 6.78 แสนล้านบาท พบว่ามากกว่า 50% หรือประมาณ 3.37 แสนล้านบาทมีเป้าหมายที่จะลงทุนเกี่ยวกับหุ่นยนต์และออโตเมชั่น สอดคล้องกับรายงานของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) ที่ระบุว่าภายในปี 2562 ตลาดหุ่นยนต์และออโตเมชั่น จะขยายตัวถึง 19% ถือเป็นอัตราเติบโตอันดับหนึ่งของอาเซียนและเป็นอันดับ 4 ของโลก

ทั้งนี้ จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน) หรือทีเส็บ เพื่อจัดมหกรรมส่งเสริมตลาดในปีนี้ อาทิ Inter mach, Automation Expo และ Metalex เป็นต้น ตลอดจนได้ยื่นโครงเรื่อง และผลศึกษาเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ขออนุมัติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศและผลิตบุคลากรรองรับไม่ต่ำกว่า 15,000 คน พร้อมเงื่อนไขต้องอุดหนุนวัตถุดิบและผลิตในประเทศไม่ต่ำกว่า 30% เพื่อแลกกับสิทธิการยกเว้นภาษีการลงทุน 3 ปี และข้อเสนออื่นๆ เชื่อว่าหากได้รับอนุมัติแล้วจะทำให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศสดใส เมื่อดูจากรายได้ของผู้ประกอบการรายย่อยในกลุ่มงานพัฒนาระบบและไอที (System Integration) พบว่าปีที่ผ่านมามีรายได้ขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% และตามแผนดังกล่าวต้องการผลิตผู้ประกอบการในประเภทนี้ให้ได้ 1,500 รายจากปัจจุบันมี 40 ราย ส่วนการพัฒนาบุคลากรนั้นรัฐบาบต้องกานให้สถาบันอุดมศึกษาทั้ง 10 แห่งร่วมกันก่อตั้งสถาบันการศึกษาหุ่นยนต์เพื่อผลิตบุคลากรรองรับตลาดเติบโต เบื้องต้นตั้งเป้าหยุดมูลค่าการขาดดุลทางการค้าของการนำเข้าและส่งออกอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ซึ่งขาดดุลอยู่ปีละ 2 แสนล้านบาท

“หุ่นยนต์ 1 ตัวแทนแรงงานได้ 2 คน แถมทำงานได้ทั้งวันทั้งคืนอีกด้วย ผู้ประกอบการจะคืนทุนภายใน 18 เดือนหากเลิกจ้างคนแล้วหันมาใช้หุ่นยนต์ทำงานแทน” ดร.ชิตกล่าว

ดร.ชิต กล่าวต่ออีกว่า สำหรับความสนใจจากนักลงทุนนั้น ในพื้นที่อีอีซีมีบริษัทรายใหญ่มาสอบถามแสดงความสนใจลงทุนจำนวนมาก บางรายขอพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ เพื่อพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ขณะนี้มียื่นเข้ามาแล้ว 7-8 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนจากจีนและญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นเจ้าตลาดโลกด้านหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นอยู่แล้ว คาดว่าหลังจากได้ตัวรัฐบาลใหม่จะได้เห็นการเข้าขอลงทุนอีกจำนวนมากในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต 5G ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ รัฐบาลต้องการให้เริ่มใช้ 5G ในหัวเมืองรองก่อนที่จะเป็นกรุงเทพมหาคร เนื่องจากต้องทดสอบความเสถียรให้แน่นอนเสียก่อน เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มได้ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและมีโรงงานจำนวนมาก ต่อมาคงเลือกพื้นที่สมาร์ทซิตี้ เช่น ภูเก็ต เมืองการบินอู่ตะเภา และเชียงใหม่ เป็นต้น และยังถือว่าเป็นครั้งแรกที่ไทยจะได้เริ่มพัฒนา 5G และทดลองใช้ไปพร้อมกันกับประเทศอื่นทั่วโลก

ด้านนางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการอาวุโส ทีเส็บ สายงานธุรกิจ กล่าวว่า ทีเส็บพร้อมสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าในไทย ที่รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งไทยมีรากฐาน เป็นผู้จัดงานแสดงสินค้าที่เข้มแข็ง จึงมีความพร้อมยกระดับไปสู่การจัดแสดงเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในวงกว้างมากขึ้น โดยทีเส็บจะร่วมผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แบรนด์ใหม่ของทีเส็บ Thailand Redefine Your Business Events ผู้ร่วมแรง ผู้ร่วมสร้าง ผู้ร่วมมือ ผู้ร่วมคิด โดยริเริ่มแคมเปญ ‘360 องศา’ เพื่อดันไทยเป็นศูนย์กลางของงานแสดงสินค้าด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ของภูมิภาคอาเซียน” ปัจจุบัน ประเทศไทยมีงานแสดงสินค้าด้านเครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อย่างน้อย 5 ราย มีพื้นที่ใช้งาน (net space) รวมกัน 90,000 ตารางเมตร และล้วนเป็นงานระดับภูมิภาคอาเซียนที่มุ่งตอบสนองตลาดในภูมิภาคนี้