‘ทีเส็บ’ เปิด 6 สุดยอดยุทธศาสตร์ติดอาวุธไมซ์ไทยให้แกร่งไปทั่วโลก

ทีเส็บ กระตุ้นผู้ประกอบการไมซ์ไทยปรับตัว ชี้ปัจจุบันรัฐบาลทั่วโลกให้ความสำคัญกับการสร้างเศรษฐกิจด้วยธุรกิจไมซ์ ดึงการใช้ข้อมูลอัจฉริยะ (Intelligence) ผสานการวิเคราะห์ ตอบโจทย์พฤติกรรมนักธุรกิจไมซ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมเผย 6 ยุทธศาสตร์ โครงการไฮไลท์พัฒนาธุรกิจไมซ์ด้วยนวัตกรรมตลอดระยะ 3 ปี (2562-2564)

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของทีเส็บซึ่งสอดคล้องนโยบายรัฐบาลมุ่งเน้น 3 เป้าหมายหลัก คือ การสร้างรายได้ การพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม และการสร้างความเจริญกระจายรายได้ ซึ่งยุทธศาสตร์ไมซ์ปีนี้มุ่งขับเคลื่อนไมซ์เชิงคุณภาพและกระจายรายได้สู่เมืองต่างๆ ส่งผลให้ทีเส็บจัดทัพโครงสร้างทีมงาน และแผนงานใหม่ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านนวัตกรรมและข้อมูลไมซ์ (MICE Intelligence & Innovation)

โดยพร้อมเปิดแผนพัฒนาธุรกิจไมซ์ด้วยนวัตกรรมและข้อมูลตลอดระยะ 3 ปี (2562-2564) ที่ศึกษาจากพฤติกรรมความต้องการของนักเดินทางไมซ์และผู้ประกอบการเอกชน โดยมีแนวทางการทำงานและ 16 โครงการไฮไลท์ที่จะดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมตลอดระยะ 3 ปีเต็มจากนี้ เพื่อนำนวัตกรรมและข้อมูลมาใช้พัฒนาธุรกิจไมซ์ร่วมกับผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด โรดแมปการพัฒนาธุรกิจไมซ์ด้วยนวัตกรรมและข้อมูลตลอดระยะ 3 ปี (2562-2564) ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์  16 โครงการไฮไลท์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสนับสนุนการจัดงานและผู้ประกอบการไมซ์ (Support & Sponsorship) มี 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการช่องทางสำหรับการขอรับบริการไมซ์เลน เพื่อต้อนรับแขก VIP ภายในสนามบิน (Paperless MICE Lane Request) 2.โครงการช่องทางออนไลน์เพื่อขอรับการสนับสนุนจาก สสปน. (TCEB Online Financial Support Request) 3.โครงการระบบ AI เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับทีเส็บ (TCEB Help Desk Chatbot) 4.โครงการช่องทางให้คำแนะนำเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้าเพื่อจัดแสดงและขอวีซ่า (MICE Permit Advisor)

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไมซ์ (Developing MICE Supply) มี 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการช่องทางออนไลน์ให้ผู้ประกอบการขอใบรับรองและมาตรฐานไมซ์ (MICE Online Standard Assessment) 2.โครงการศูนย์รวมตำแหน่งงานและการแนะแนวอาชีพตามสายงานไมซ์ (MICE Career Portal) 3.โครงการแหล่งเรียนรู้ออนไลน์รวบรวมความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไมซ์ (MICE Digital Learning Platform)

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมงาน (Enhancing Attendee Experience) มี 1 โครงการ ได้แก่ โครงการแอพพลิเคชันสำหรับให้บริการผู้เข้าร่วมงาน เพื่ออำนวยความสะดวกอย่างครบวงจร (Event Application for Attendee)ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดงาน (Organizing Event with Efficiency) มี 2 โครงการ ได้แก่  1.โครงการแอพพลิเคชั่นมือถือสำหรับอำนวยความสะดวกผู้จัดงาน (Organizer Mobile Application) 2.โครงการระบบประเมินผลผู้เข้าชมงานด้วยภาพจากกล้องวิดีโอ (Event Traffic Analytics)

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าและบริการไมซ์ (Connecting MICE Supply & Demand) มี 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการแหล่งรวบรวมรายชื่อและข้อมูลงานอีเวนท์ที่สามารถเข้าร่วมประมูลสิทธิ์ในการจัดงานได้ (Event Opportunities Portal) 2.โครงการศูนย์กลางการระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการจัดงาน (MICE Crowd Funding Platform) 3.โครงการแหล่งรวบรวมผู้ประกอบการด้านไมซ์ (MICE Supply Market Place) 4.โครงการช่องทางโปรโมทอีเวนท์เพื่อให้ผู้สนใจลงทะเบียนหรือจองพื้นที่แสดงสินค้า (Event Discovery Platform Platform) 5.โครงการศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าและบริการ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจก่อนและหลังการจบงาน (e-Commerce Platform)

ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการเป็นแหล่งข้อมูลอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE Intelligence & Resource Center)  มี 1 โครงการ ได้แก่ โครงการฐานข้อมูลไมซ์เพื่อสร้างนวัตกรรมและเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ (MICE Intelligence & Resource Center)