อพท. ประเดิมจัดกิจกรรมถอดบทเรียน “ประเมินขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว” นำร่องพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า 

อพท. ประเดิมจัดกิจกรรมถอดบทเรียน “ประเมินขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว” นำร่องพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า  ผนึกภาคีทำแผน เตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ไทย-เทศ ก่อนปูทางขึ้นแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐานสากลใกล้กรุงเทพฯ จากรางวัลกรีนเดสติเนชัน TOP 100

ในกิจกรรมถอดบทเรียนการประเมินขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาท่องเที่ยวไทย พอดี มีสุข จัดโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ได้รับเกียรติจากนายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมผู้นำและชาวบ้านจากทั้ง 6 ชุมชนในคุ้งบางกะเจ้าเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

***เตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว***

นายอนันต์  ชูโชติ ประธานกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ พพท. กล่าวในโอกาสปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “พลิกโฉมการท่องเที่ยวไทยที่..พอดี มีสุข”  ว่า  ศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวในคุ้งบางกะเจ้า ซึ่งมีความหลากหลาย และ อพท. ได้เตรียมรวมรวมข้อมูลเพื่อให้ทราบถึงขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว ประกอบกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวที่จะทยอยเดินทางเข้าประเทศไทยและพื้นที่แห่งนี้ เนื่องจากคุ้งบางกะเจ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติ มีที่ตั้งใกล้กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่มีชื่อเสียงติดอันดับต้นๆของโลกที่เป็นจุดหมายปลายทางของผู้คนที่ต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว

“รัฐบาลเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยว ที่มีส่วนช่วยพัฒนาประเทศ ดังนั้นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และ โมเดลเศรษฐกิจ BCG  จึงได้บรรจุเรื่องการท่องเที่ยวเป็นประเด็นหนึ่งของการพัฒนา โดยต้องการนำเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมเข้ามาส่งเสริมและยกระดับให้แก่แหล่งท่องเที่ยวและชุมชน เพื่อต่อยอดจากศักยภาพความเข้มแข็งของประเทศไทยในด้านความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติ สังคมวัฒนธรรม  เน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ก่อให้เกิดอารมณ์ดี มีสุข มีเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย และส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว”

ดังนั้น อพท. จึงได้นำนโยบายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ และ นโยบายเศรษฐกิจ BCG  มาปรับใช้กับการทำงาน ด้วยการเตรียมความพร้อมให้แก่พื้นที่พิเศษที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ อพท.  มีเป้าหมาย คือการพัฒนาเพื่อยกระดับแหล่งท่องเที่ยวสู่สากล ซึ่งการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของพื้นที่ หรือ Carrying Capacity เพื่อหาความพอดีในขีดจำกัดของแหล่งท่องเที่ยว ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาที่จะต้องตั้งอยู่บนฐานของความสมดุลของการพัฒนาชุมชนในทุกมิติที่จะนำมาซึ่งความสุขทั้งผู้ให้บริการ ชุมชน และผู้มาเยือน

***ประเดิมศึกษา 2 พื้นที่***

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า  การประเมินขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของพื้นที่ หรือ Carrying Capacity  เป็นการศึกษาและประเมินขีดความสามรถในการรองรับ จะเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Criterial หรือ GSTC ว่าด้วยเรื่องการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่จะช่วยลดผลกระทบทางลบ และเพิ่มผลกระทบทางบวก ให้พื้นที่หรือแหล่งท่องเที่ยว เข้าใจ และรับรู้ขีดความสามารถของตัวเองว่าด้วยการรองรับนักท่องเที่ยวในจำนวนที่พอดี ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับแหล่งที่จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการดูแล  โดย อพท. จะดำเนินงานในแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในพื้นที่ที่อพท. ดูแลรับผิดชอบ โดยปีนี้มีเป้าหมาย 2 แหล่ง ได้แก่  แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ 3 เกาะหมาก อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด โดยการศึกษา อพท. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายและชุมชน เก็บรวบรวมข้อมูล  เป้หมายเพื่อมุ่งเน้นเรื่องของความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม คุณภาพ สุขอนามัย และความปลอดภัย

ทั้งนี้ อพท. จะนำผลจากการถอดบทเรียนในครั้งนี้ ไปกำหนดเป็นแนวทางวางศักยภาพในขีดความสามารถรองรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่  เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ สามารถลดผลกระทบทางลบ และเพิ่มผลกระทบทางบวกให้กับแหล่งท่องเที่ยวแห่งนั้นได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อกำหนดตามหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกหรือ GSTC ที่ อพท. ใช้เป็นหลักในการพัฒนาให้กับพื้นที่พิเศษ ปัจจุบัน อพท. อยู่ระหว่างการผลักดันพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติเพื่อประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษในเร็วๆนี้ และเป้าหมายต่อไปคือผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐานสากลติดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือกรีนเดสติเนชั่น TOP 100 ตอกย้ำการพัฒนาสู่ความยั่งยืนต่อไป