จากการลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐบาล สะท้อนให้เห็นว่ามุ่งเป้าในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ล่าสุด สนข.ได้จัดงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของโครงการและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง “TOD คมนาคมสร้างเมืองเมืองสร้างสุข สุขสร้างได้”

โดยนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย (พ.ศ. 2558-2565) มุ่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทุกโครงข่าย ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้เชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว (Seamless Mobility) เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางครั้งใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแกนหลักในการเดินทางและขนส่งจากทางถนนในปัจจุบันสู่ทางรางในอนาคต จะทำให้เกิดสถานีขนส่ง หรือจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่มีศักยภาพทั่วประเทศ การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของประเทศ ในการชี้นำการพัฒนาเมือง ชุมชน และสภาพแวดล้อม ให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ยกตัวอย่างย่านชิบูย่า กลางกรุงโตเกียว ที่ผู้คนสามารถเดินได้ทุกทิศทาง เป็นจุดศูนย์กลางของเมือง ระบบคมนาคมก็เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นที่เป็นตัวกระตุ้นให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองของตนเอง เช่น การพัฒนารถไฟชินคังเซนของญี่ปุ่น จะให้ส่วนท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดว่าตำแหน่งสถานีจะอยู่จุดใด และจะพัฒนาเมืองอย่างไร ถ้าหากข้อเสนอเมืองใดดีที่สุดก็จะเป็นผู้ได้สถานีไป และที่สำคัญควรมีการร่าง พ.ร.บ. TOD ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ การพัฒนา TOD จะเกิดความยั่งยืนและไม่มีผลกระทบเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อมี พ.ร.บ. เฉพาะการพัฒนา TOD และองค์กรพัฒนาปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจากส่วนกลาง“ที่ผ่านมาเรามักใช้การเวนคืนในการพัฒนาโครงการ แต่การเวนคืนมีจุดอ่อน คือ ผู้ที่ถูกเวนคืน คือ ผู้ที่เสียประโยชน์มากที่สุด แต่ผู้ที่มีที่อยู่ติดกับที่ที่ถูกเวนคืน กลับกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด แต่การพัฒนาในรูปแบบ TOD ต้องมีการหารือพื้นที่เป้าหมาย โดยให้ส่วนท้องถิ่นเข้าไปซื้อที่รวบรวมที่ดินในราคาท้องตลาด แล้วมีการจัดรูปที่ดิน แบ่งสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมและสามารถเข้าถึงได้สะดวก ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ทุกคนต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน”

ด้าน ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้นำเสนอมุมมองของการพัฒนาพื้นที่ว่า รัฐต้องเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนา ในขณะเดียวกันก็ต้องให้อิสระในการคิดพอสมควร อย่าจำกัดกรอบมากเกินไป ที่ผ่านมา การดำเนินโครงการด้านคมนาคมไม่มีการวางแผนการพัฒนาพื้นที่และการวางผังเมืองรองรับ ทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินไม่มีประสิทธิภาพ จึงต้องนำแนวคิด TOD มาพัฒนาเมืองควบคู่กับการพัฒนาระบบคมนาคมด้วย และต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจน และสนับสนุนให้มีการจัดทำ พ.ร.บ. TOD โดยเฉพาะ

ขณะที่ ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี ผู้อำนวยการสำนักธุรกิจบัตรโดยสารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รฟม. ก็มีพื้นที่ที่มีศักยภาพหลายแห่งแต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากติด พ.ร.บ. เวนคืนที่ดิน มีแผนการแต่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณและกฎหมาย หากปลดล็อคปัญหาเหล่านี้ได้ รฟม.ก็จะสามารถพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ง่ายมากขึ้น เอื้ออำนวยให้คนใช้บริการมากขึ้น เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ หากติดปัญหารอบด้านก็ไม่สามารถพัฒนาต่อได้ ส่งผลให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจนั่นเอง

สำหรับโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ดำเนินการศึกษาโดยบริษัทร่วมสัญญา 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ร่วมสัญญา งาน TOD รวม 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด บริษัท นิปปอน โคอิ จำกัด บริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด NIKKEN SEKKEI Ltd.

โดยโครงการดังกล่าว สนข. จะดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ  ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การสัมมนารับฟังความเห็น การประชุมกลุ่มย่อย การเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ และการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยจะจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนครั้งต่อไป ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่จังหวัดพิษณุโลก และหลังจากนั้นก็จะเดินสายรับฟังความเห็นในภาคอื่นๆ โดยผลที่ได้จากการศึกษาในโครงการนี้ จะได้เมืองต้นแบบ TOD สำหรับการพัฒนาในอนาคต