ยืดเยื้อ! ไฮสปีด 3 สนามบิน คุย CP เหลว-BTS จ่อเสียบ

ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินยังไม่จบ “ผู้ว่า รฟท.” แจงไม่รับข้อเสนอนอก TOR-ขัดมติ ครม. พร้อมจ่อเคลียร์ CP 5 มี.ค.นี้ เตรียมร่อนหนังสือชี้แจงรัฐบาล-เรียก BTS เปิดซอง 4 หากประมูลล่ม ด้าน “สหภาพฯ รฟท.” เสนอ รฟท.ลงทุนทำเอง

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการถไฟแห่งประเทศไทยหรือ รฟท. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.15 แสนล้านบาทว่า จากการประชุมร่วมกับคณะกรรมการคัดเลือกฯ แล้วนั้น ขณะนี้ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีการยอมรับข้อเสนอนอกเงื่อนไขร่างเอกสารขอบเขตการประกวดราคา (TOR) เช่น การขยายสัมปทานและข้อเสนอสิทธิพิเศษทางการเงิน หรือการรับมอบพื้นที่ก่อนแล้วจ่ายเงินทีหลัง เป็นต้น รวมถึงข้อเสนอที่ปฏิเสธไปทั้งหมด 12 ข้อ เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวอยู่นอกเหนือร่างขอบเขต TOR และกระทบกับกรอบข้อเสนอโครงการ (RFP) โดยเฉพาะการขัดกับมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.

ทั้งนี้ ในวันที่ 5 มี.ค.นี้ เวลา 14.00 น. จะเรียกเอกชนคู่เจรจาเข้ามาคุยกันอีกครั้ง ถึงเงื่อนไขที่ปฏิเสธ หากมีการเจรจากันต่อนั้น จะคุยในเรื่องของข้อเสนอใหม่ที่เอกชนเตรียมมา แต่จะไม่มีการพูดถึงเรื่องข้อเสนอนอก TOR ที่ปัดตกไปอีกแล้ว และคาดว่าจะได้ข้อสรุปว่าจะเดินหน้าต่อไป หรือจะเรียกเอกชนอีกรายมาเปิดซองเอกสารที่ 4 เพื่อเจรจาต่อไป อย่างไรก็ตาม หากการเจรจากับกลุ่มแรกต้องจบลงก็จะส่งหนังสือชี้แจงฝ่ายนโยบายไปว่าการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ด้วยเรื่องใด อย่างเช่น เรื่องข้อเสนอนอก TOR เป็นต้น รวมถึงสรุปขั้นตอนและปัญหาทั้งหมดกับคู่เจรจาเพื่อรวบรวมส่งต่อไปยังระดับบริหาร

“ในวันที่ 5 มี.ค.นี้ คงมาคุยกันนอกเงื่อนไขไม่ได้ หลังจากนี้จะส่งหนังสือชี้แจงไปยังเอกชน ส่วนเรื่องข้อเสนอที่กลุ่มซีพีขอขยายเพดานเงินกู้ของบริษัท หรือการหาแหล่งทุนที่เหมาะสมนั้น คณะกรรมการไม่มีอำนาจพิจารณาได้ โดยผมยังมั่นใจว่าเจรจามาถึงจุดนี้แล้ว กลุ่มซีพีคงไม่ถอนตัวง่ายๆ แต่หากการเจรจาถึงทางตันตามกติกา RFP ได้ระบุให้เรียกเอกชนอีกราย คือ กลุ่ม BTS เข้ามาเจรจาเปิดซองที่ 4 ต่อไปโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องวงเงินลงทุนโครงหารที่เสนอสูงกว่ากลุ่มซีพี กว่า 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจึงยังมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินโครงการนี้ได้ตามเป้าหมายคือลงนามสัญญาภายในรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงเชื่อว่าจะได้เห็นการเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างในช่วงปลายปีนี้หรือ 6 เดือนหลังจากลงนามสัญญา” นายวรวุฒิ กล่าว

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือ สร.รฟท. กล่าวว่า หากการเจรจาต่อรองโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินระหว่าง รฟท. กับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CP) ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้นั้น สหภาพฯ สนับสนุนให้ รฟท.ลงทุนในการดำเนินการโครงการดังกล่าวเอง ถึงแม้ในเชิงพาณิชย์ จะไม่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน แต่ถือเป็นการดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน และเป็นประโยชน์ระยะยาวให้กับประเทศชาติด้วย

“ผมมองว่าการรถไฟฯ ควรลงทุนไฮสปีด 3 สนามบินเอง รวมทั้งการบริหารพื่นที่เชิงพาณิชย์เอง หรืออาจจะควบคู่กันไป ถึงแม้ว่าจะไม่คุ้ม แต่ผมมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ ซึ่งรถไฟอาจจะต้องแบกรับภาระ เพราะยังไงรัฐก็ต้องมาสนับสนุนโครงการอยู่ดี ลงทุนเอง ทำเองก็น่าจะมีศักยภาพ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ สหภาพฯ จะจัดสัมมนาชำแหละโครงการไฮสปีด 3 สนามบิน โดยจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมเสวนา อาทิ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ มาร่วมงาน” นายสาวิทย์ กล่าว

ขณะที่นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ระบุว่า กลุ่ม BSR มีความพร้อมอย่างมากในการเข้าเจรจาต่อรองโครงการดังกล่าว

โดยมั่นใจว่าทางกลุ่มมีข้อเสนอดีพอที่จะเอาชนะคู่แข่งในการช่วงชิงเมกะโปรเจ็กต์ดังกล่าวได้ โดยอาศัยความร่วมมือกับบริษัทพาร์ทเนอร์ชั้นนำระดับโลกที่มีศักยภาพไม่น้อยไปกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเอกชนรายใหญ่ที่สามารถสร้างเซอร์ไพรส์ให้วงการได้หากมีการเปิดเผยชื่อ 

สำหรับการเจรจาต่อรองของ BTS นั้น ยืนยันว่าจะไม่มีการยื่นข้อเสนอนอกเอกสารขอบเขตเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) แม้ว่ากลุ่ม BSR จะเสนอขอให้รัฐสนับสนุนโครงการสูงกว่าคู่แข่งอยู่ 5.27 หมื่นล้านบาท แต่ว่าวงเงินดังกล่าวยังสามารถลดราคาลงได้อีกในขั้นตอนการเจรจาต่อรอง ดังนั้นหากได้โอกาสเข้าเจรจากับรัฐบาลจริงคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเวลา 30 วัน หรือจบลงได้ภายในเดือน มี.ค.ตามเป้าหมายของรัฐบาล จะไม่ยืดเยื้อมาก เพราะยื่นข้อเสนอตาม TOR อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของโครงการนั้น BTS จะใช้ประสบการณ์ด้านงานเดินรถไฟฟ้าเข้ามาพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงให้สะดวก ทันสมัย และตอบโจทย์การเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะสถานีขนาดใหญ่อย่างอู่ตะเภา นอกจากนี้จะเน้นจุดแข็งการเนรมิตพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี (TOD) ให้มีความหลากหลาย สร้างรายได้และเชื่อมต่อการเดินทาง โดยเน้นไปในส่วนของที่ดินมักกะสันและที่ดินศรีราชา