‘ศักดิ์สยาม’ เร่งเครื่องแผนฟื้นฟู ‘รฟท.-ขสมก’ สอดรับมติ คนร. พร้อมสั่ง 2 หน่วยงานจัดทำ Action Plan ให้ชัดเจน

ศักดิ์สยามเร่งเครื่องแผนฟื้นฟูรฟท.-ขสมกสอดรับมติ คนร. สั่งการรถไฟฯ จัดทำ Action Plan ให้ชัดเจน พร้อมวางแนวทางโอนสัญญาสิทธิที่ดินให้เอสอาร์ที แอสเสทบริหาร หวังดันรายได้เพิ่ม มอบ ขสมก. ลุยแผนฟื้นฟู6 ด้าน มุ่งเน้นพีอาร์สร้างภาพลักษณ์เชิงบวก

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหา/แผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่2/2565 เมื่อวันที่ 22 มิ.. 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมติดตามแนวทางการดำเนินการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ นั้น รฟท.ได้รายงานความคืบหน้าของ (ร่าง) แผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยปี 2566-2570 (แผนฟื้นฟู) ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ดังนี้

  1. พัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน (Enhance Competitive Advantage)
  2. พลิกฟื้นธุรกิจหลัก (Core Business Turnaround)
  3. พัฒนาและสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง (Non-core Business Enhancement)
  4. ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง (Become Platform Provider)
  5. ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องกับการฟื้นฟู (Organizational Reform)
  6. พัฒนาระบบรางด้วย BCG Model (BCG Model Incorporation)

นอกจากนี้ รฟทฏได้รายงานแนวทางการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานปัจจุบัน โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, การจัดหารถจักรและล้อเลื่อน, การโอนสัญญาและสิทธิในที่ดินให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัดและการเพิ่มพันธกิจของบริษัท รถไฟฟ้า ... จำกัด

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ รฟท. จัดทำแผนการปฏิบัติการ (Action Plan) ให้ชัดเจนเพื่อติดตามการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้มุ่งเน้นในการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการดำเนินงานของ รฟท. รวมถึงจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินงานจากยุทธศาสตร์ข้างต้นที่สามารถดำเนินงานได้ทันที เช่น การจัดสรรเส้นทางการเดินรถไฟให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และดึงดูดเอกชนมาร่วมลงทุน

ขณะเดียวกัน ให้ รฟท.ให้ความสำคัญในประเด็นการโอนสัญญาและสิทธิในที่ดินให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัดซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้ รฟท.มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เห็นควรให้ รฟท.เร่งรัดการจัดทำแผนและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว อีกทั้งให้ทำข้อมูลเปรียบเทียบผลที่ได้รับจากการเพิ่มรถจักรและล้อเลื่อนเพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์และเป้าหมายในการดำเนินงานที่ชัดเจน และทำให้การใช้โครงข่ายทางรางเกิดประโยชน์สูงสุด

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ส่วนการดำเนินการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นั้นผู้แทน ขสมก. ได้นำเสนอแผนขับเคลื่อนกิจการองค์การ (BMTA Moving Plan) โดยมุ่งเน้นการเป็นองค์การยุคใหม่เพื่อการเดินทางที่สร้างความพอใจให้กับทุกคน ภายใต้คอนเซปต์ B : Better พอใจ M : Modern ใหม่ T : Transport เดินทาง และ A : for All เพื่อทุกคน

สำหรับประเด็นการจัดทำแผนฟื้นฟู 6 ด้าน ได้แก่ 1.สภาพรถโดยสาร โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสัญญาซ่อมบำรุงรถโดยสาร การจัดหารถโดยสารที่มีขนาดเหมาะสมมาให้บริการ การปรับปรุงสภาพรถ (Refurbish) ให้พร้อมใช้บริการ และการเปลี่ยนรถโดยสาร (Conversion) เป็นรถพลังงานไฟฟ้า

2.ระบบบริหารจัดการ โดยการบริหารต้นทุนการจัดเก็บค่าโดยสาร การปรับเส้นทางเดินรถให้มีความสอดคล้องกับแนวเส้นทางรถไฟฟ้า การรับสมัครพนักงานที่มีความหลากหลาย ทั้งรูปแบบพนักงานประจำและพนักงานสัญญา การปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความกระชับ การจัดทำแผนดำเนินงานที่มีส่วนร่วมจากหลากหลายหน่วยงาน รวมทั้งการสร้างการยอมรับการเป็นองค์กรบริการสาธารณะที่มุ่งเน้นการให้บริการ

3.ภาพลักษณ์ โดยการประชาสัมพันธ์ การเปิดให้ประชาชนแบ่งปันประสบการณ์ตรงจากการใช้บริการ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจกับบุคคลากรในองค์การเพื่อเสริมสร้างเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นภายในองค์การ 4.เทคโนโลยี โดยการมุ่งเน้นการใช้งานเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม การพัฒนา Application ของ ขสมก. การสร้างฐานข้อมูลลูกค้าและผู้โดยสาร (Customer Persona) และการเร่งเพิ่มสัดส่วนการใช้งานบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์

5.แหล่งรายได้อื่น โดยการปรับเปลี่ยนการจัดเก็บค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายรายเดือน และเร่งรัดการเพิ่มรายได้จากการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงพาณิชย์ สำหรับพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น อู่บางเขน อู่มีนบุรี เป็นต้น 6.แหล่งเงินทุน โดยมีรูปแบบการจัดหารถที่มีความหลากหลาย เช่น การซื้อ การเช่า การจ้างวิ่ง การให้บริการของรถร่วมบริการ การให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม (PPP) อย่างไรก็ตาม ขสมก. จะได้เร่งจัดทำรายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการขสมก. ต่อไป 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ได้สั่งการให้ ขสมก. จัดทำ Action plan แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ฉบับปรับปรุงใหม่โดยจัดลำดับความสำคัญ และจำแนกเป็นระยะๆ ให้มีความชัดเจน มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรในเชิงบวก โดยอาจให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย Third Party หรือ Influencer เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์และเป็นแรงผลักดัน ในการขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป