‘ศักดิ์สยาม’ สั่งนัด ‘ชัชชาติ’ ผู้ว่าฯ กทม. ป้ายแดง ร่วมถกหาทางออกปมขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวภายในสัปดาห์หน้า

“ศักดิ์สยาม” มอบรองปลัดฯ ประสาน กทม. พร้อมสั่งทำหนังสือเชิญ “ชัชชาติ” ผู้ว่า กทม.ป้ายแดง หารือปมต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวภายในสัปดาห์หน้า หวังกำหนดแนวทางหาทางออกโดยด่วน ด้าน “ผู้ว่าฯ” เรียก “กรุงเทพธนาคม” ให้ข้อมูลในวันนี้ ลั่น! ไม่ควรอ้างภาระหนี้ มากดดันประชาชน ใช้ค่าโดยสาร 65 บาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เร่งดำเนินการประสานไปยังกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยกระทรวงฯ เน้นย้ำว่าต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารของกระทรวงฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องการขยายอายุสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำหนังสือเชิญนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. คนใหม่ มาร่วมหารือถึงแนวทางการดำเนินการภายในสัปดาห์หน้า โดยหากนายชัชชาติตอบรับการเชิญและมาด้วยตนเองนั้น นายศักดิ์สยาม จะเข้าร่วมหารือด้วย

ทั้งนี้ ในการหารือครั้งดังกล่าวนั้น จะร่วมกันพิจารณาหาทางออกร่วมกันว่า แนวทางการดำเนินการหลังจากนี้จะไปในทิศทางใด โดยเฉพาะเรื่องการโอนทรัพย์สิน และการพิจารณาแนวนโยบายของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ถึงการโอนสัมปทานกลับมาเป็นของกระทรวงคมนาคม ซึ่งในเรื่องนี้ กระทรวงคมนาคมยังไม่มีการวางแผนไว้ โดยจะต้องเตรียมการณ์ไว้ด้วย ประกอบกับเรื่องที่ กทม. จะต้องไปดำเนินการ คือ หนี้สินของ กทม. ทั้งจากค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการจ้างเดินรถ อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์สยาม ได้ให้นโยบายว่า จะต้องเร่งหาทางออกโดยเร็วที่สุด

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงว่า ในวันนี้ (2 มิ.ย. 2565) ได้เรียกบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) มาหารือเรื่องกรณีการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อเข้ามาให้รายละเอียดข้อมูลตัวสัญญาต่างๆ และดำเนินการเรื่องนี้ให้โปร่งใส ก่อนจะนำรายละเอียดไปหารือกับรัฐบาลได้มากขึ้น

ไม่มีทางหรอกที่จะรอให้หมดสัมปทานแล้วไปคิด ต้องเริ่มคิดตั้งแต่ตอนนี้ โดยไม่ต้องรอถึงปี 2572 ต้องเตรียมเรื่องบุคลากรต่างๆ เรื่องที่รับโอนโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ถามว่าเรารับมาถูกต้องหรือไม่ คือ หนี้ส่วนต่อขยายถึงปทุมธานีและถึงสมุทรปราการ ภาระหนี้ทั้งหมดสภา กทม.รับหรือยัง มีกระบวนการรับหนี้อย่างไร หนี้การจ้างเดินรถที่เรื่องค้างอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ไม่ใช่ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และเรื่องการต่อสัมปทานไปถึงปี 2602 ซึ่งเรื่องนี้ใช้ ม.44 ไม่ได้เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน ตกลงราคา 65 บาทนี่จริงไหม เราสงสัยว่าใครเป็นคนคิด และมันไม่มีการแข่งขัน เรื่องเหล่านี้เราไม่ได้เป็นคนทำ เราจึงแค่มาดูว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร แล้วมาเล่าให้ประชาชนฟัง มาร่วมคิดหาทางออกกันเราต้องมาคุยรายละเอียดกันอีกที” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ในส่วนของเรื่องหนี้นั้น ไม่ต้องกังวล เนื่องจากหนี้ของรัฐบาลมีมูลค่าหลายล้านล้านบาท โดยต้นทุนทางการเงินของภาครัฐไม่ต้องมีมูลค่าเยอะ แต่หากมีความจำเป็น ก็ต้องออกตราสารหนี้ แต่โดยไม่ควรนำภาระหนี้ ไปเป็นตัวกดดันประชาชนในระยะยาว หากประชาชนต้องมารับภาระค่าโดยสารราคา 65 บาท เพราะต้องการจะแก้ปัญหาภาระหนี้ก้อนนี้ ตนมองว่า ไม่สมเหตุสมผล เพราะวิธีการแก้หนี้ยังมีหลายวิธี อย่างไรก็ตาม กทม.ได้ออกข้อบัญญัติกู้เงินมาใช้แล้ว ไม่ควรนำมาเป็นเงื่อนไขว่า หนี้เยอะแล้ว และจะไม่ต่อสัญญาสัมปทาน