กรมพัฒน์ฯ จับมือ ลาซาด้า นำร่องปั้นบ้านนาข่าเป็นต้นแบบชุมชนอี-คอมเมิร์ซ

กระทรวงพาณิชย์ จับมือ ลาซาด้า เตรียมปั้นชุมชนอี-คอมเมิร์ซของไทย นำร่องเลือกชุมชนบ้านนาข่า จ.อุดรธานี หลังลงพื้นที่สำรวจ พบมีความพร้อมสูง/องค์ประกอบลงตัว สินค้ามีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ผู้ประกอบการเข้าใจระบบอี-คอมเมิร์ซเป็นอย่างดี เตรียมให้ความรู้เพิ่มเติมเสริมแกร่งลุยขายออนไลน์เต็มตัว มั่นใจองค์ประกอบทุกอย่างครบ ชุมชนอี-คอมเมิร์ซของไทยเกิดขึ้นแน่นอน สินค้าดีเป็นที่รู้จักอย่างเดียวไม่พอต้องขายได้ทั้งออฟไลน์และออนไลน์  

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้นำคณะผู้บริหารเยี่ยมชมหมู่บ้านไป่หนิว เมืองหลินอัน มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นแบบหมู่บ้านเถาเป่า (Taobao Village Model) ที่มีการนำระบบอี-คอมเมิร์ซมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบอาชีพ และสร้างรายได้ โดยประสบผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม กระทรวงพาณิชย์ได้นำต้นแบบดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับผู้ประกอบการสินค้าโอทอปที่มีการรวมกลุ่มของคนในชุมชนเพื่อให้เกิดเป็นชุมชนอี-คอมเมิร์ซต้นแบบของประเทศไทย 

เบื้องต้น กรมฯ พร้อมด้วย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี และ ลาซาด้ากรุ๊ป (แพลทฟอร์มอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของชุมชนบ้านนาข่า จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถีที่มีความแข็งแกร่ง เพื่อเตรียมผลักดันให้เป็นชุมชนอี-คอมเมิร์ซต้นแบบของไทย พร้อมเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนโอทอปอื่นๆ ในการเข้าสู่แพลทฟอร์มการค้าออนไลน์

ผลการสำรวจฯ พบว่า ชุมชนบ้านนาข่ามีความพร้อมสูงในการพัฒนาให้เป็นชุมชนอี-คอมเมิร์ซ คือ 1.เป็นตลาดและแหล่งผลิตผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าหมักโคลนระดับห้าดาวของประเทศ 2.ผ้าทอมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของสาธารณชนทั่วไป 3.ชุมชนการค้ามีความเข้มแข็ง 4.ผลิตภัณฑ์มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว สวยงาม และคุณภาพดี 5.ผู้ประกอบการในชุมชนกว่า 200 ร้านค้า มีการบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ 

6.ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความรู้และเข้าใจระบบการค้าออนไลน์เป็นอย่างดี 7.พร้อมเปิดรับความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาช่องทางการตลาดให้เป็นที่รู้จักและเพิ่มยอดขาย 8.มีเครือข่ายธุรกิจในกลุ่มสิ่งทอทำให้เกิดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาชุมชนการค้าให้กลายเป็นชุมชนอี-คอมเมิร์ซระดับแนวหน้าของประเทศ

อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า กรมฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรนำจุดอ่อน-จุดแข็งของชุมชนบ้านนาข่า มาทำการวิเคราะห์เพื่อวางแนวทางการพัฒนาให้เป็นชุมชนการค้าออนไลน์ โดยจะทำการเสริมแกร่งความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้แก่ผู้ประกอบการและทายาทเพื่อให้เกิดการส่งต่อธุรกิจ และปรับแนวทางการบริหารจัดการโดยให้ความสำคัญกับการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น เน้นความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นและความพิเศษของผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันกับแหล่งค้าขายอื่นๆ

รวมทั้ง ใส่เรื่องราว (StoryTelling) ความพิเศษและความเป็นมาของผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นเพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้า ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการค้าขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้สัมผัสจับต้องสินค้าโดยตรง ฉะนั้น การบรรยายถึงสรรพคุณและคุณสมบัติที่โดดเด่นทำให้ผู้บริโภคมองเห็นคุณค่าของสินค้าชิ้นนั้นได้ไม่ยาก

ขณะที่ ลาซาด้า จะเปิดช่องทางในเว็บไซต์ลาซาด้าเพื่อรองรับการค้าขายสินค้าชุมชนบ้านนาข่าโดยเฉพาะ ช่วยทำการประชาสัมพันธ์เพื่อให้สินค้าเป็นที่รับรู้และรู้จักมากยิ่งขึ้น พร้อมถ่ายทอดความรู้/เทคนิคสำคัญเพื่อช่วยเพิ่มยอดขายและผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายมากขึ้น รวมถึง สิทธิพิเศษต่างๆ  

นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านหนองแวงพัฒนา จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงแช่อิ่ม กล้วยหอมทองที่มีชื่อเสียงของประเทศ และชุมชนบ้านผาสิงห์ (กลุ่มผ้าทอมือผาสิงห์) จ.อุดรธานี แหล่งผลิตผ้าทอมือสีธรรมชาติ และอัตลักษณ์ผ้าลายถ้ำที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เพื่อเตรียมพัฒนาเป็นชุมชนอี-คอมเมิร์ซเช่นเดียวกับชุมชนบ้านนาข่า ซึ่งกรมฯ และหน่วยงานพันธมิตรได้นำจุดอ่อน-จุดแข็งของทั้ง 2 ชุมชนมาทำการวิเคราะห์เพื่อวางแนวทางการพัฒนาให้เป็นชุมชนการค้าออนไลน์ต่อไป

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA พบว่า ปี 2560 ประเทศไทยมีมูลค่าอี-คอมเมิร์ซทั้งสิ้นจำนวน 2,812,592.03 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นมูลค่าประเภท B2B จำนวน1,675,182.23 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 59.56 รองลงมา เป็นมูลค่าประเภท B2C จำนวน 812,612.68 ล้านบาท หรือร้อยละ 28.89 และส่วนที่เหลือ 324,797.12 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.55 เป็นมูลค่าตามธุรกิจประเภท B2G ซึ่งเมื่อเทียบมูลค่าอีคอมเมิร์ซของปี 2560 กับปี 2559 จะพบว่ามูลค่าของประเภท B2B มีการเติบโตขึ้นร้อยละ 8.63 และประเภท B2C ที่โตขึ้นร้อยละ 15.54