วันแรกคึกคัก! เอกชนแห่ซื้อซอง O&M มอเตอร์เวย์ 2 สาย

ทล. เปิดขายซอง O&M มอเตอร์เวย์ 2 สายวันแรกคึกคัก เอกชนแห่ซื้อบางปะอิน-โคราช 6 ราย และบางใหญ่-กาญจนบุรี 5 ราย

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง หรือ ทล. ระบุว่า ตามที่วันนี้ (27 ก.พ. 2562) ทล. ได้เปิดจำหน่ายเอกสารข้อเสนอร่วมทุน (RFP) การให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) แบ่งเป็น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) มีเอกชนซื้อเอกสารฯ ราคา 3.08 ล้านบาท จำนวน 6 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด และ 6.บริษัท ซีวิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด ทั้งนี้ มีอีก 2 ราย ที่สนใจซื้อเอกสาร RFP M6 ได้แก่ Metropolitan Expressway Company Limited (ขาดหลักฐานหนังสือมอบอำนาจจากบริษัทแม่) และ China Harbour Engineering Company Limited (ขาดหลักฐานการมอบอำนาจช่วง)

ขณะที่ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) มีเอกชนซื้อเอกสารฯ ราคา 2.5 ล้านบาท จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด และ 5.บริษัท ซีวิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด ทั้งนี้ มีอีก 1 ราย ที่สนใจซื้อเอกสาร RFP M81 ได้แก่ China Harbour Engineering Company Limited (ขาดหลักฐานการมอบอำนาจช่วง)

สำหรับ การเปิดจำหน่ายเอกสารดังกล่าวนั้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. – 27 มี.ค. 2562 เวลา 09.00-15.00 น. ที่กรมทางหลวง เลขที่ 2/486 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ 0-2354-6753 โทรสาร 0-2354-0798 อีเมล pr@aec-th.com โดยมีกำหนดรับซองข้อเสนอในวันที่ 27 มิ.ย. 2562 เวลา 09.00-15.00 น . เปิดซองข้อเสนอในวันที่ 2 ก.ค. 2562 เวลา 09.00 น. ซึ่งผู้ยื่นต้องเสนอ 3 ซอง ได้แก่ 1.ข้อเสนอด้านคุณสมบัติและเทคนิค 2.ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 3.ข้อเสนออื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดำเนินงานของกรมทางหลวง

โดยโครงการดังกล่าว จะเป็นโครงการที่ให้เอกชนเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนก่อสร้าง รวมถึงรายได้ทั้งหมดจากค่าธรรมเนียมผ่านทาง และให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาของโครงการทั้งหมด ทั้งในส่วนของงานโยธาที่รัฐเป็นผู้ลงทุนและงานส่วนที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน ตลอดจนเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ขณะที่เอกชนได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ค่าบำรุงรักษา และค่าบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียม รวมทั้งงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กำหนด (ภายใต้แนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost)