กรมส่งเสริมการค้าฯ มั่นใจเป้าส่งออกปีนี้โตที่ +8%

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมประเมินสถานการณ์ส่งออกไตรมาส 1 ปี 62 ร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งนำคณะโดย นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดังนี้

  • การส่งออก ม.ค. 62 มีมูลค่า 18,9934 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -5.6% หากไม่รวมทองคำและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันหดตัว -5.1% ซึ่งสอดคล้องกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยมีสาเหตุหลักมาจาก ภาวะเศรษฐกิจการค้าโลกโดยรวมชะลอตัว ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ระดับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป) และภาคเอกชนได้แสดงข้อห่วงกังวลต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง
  •  ตลาด: ตลาดหลักส่งออกสำคัญลำดับที่ 1 และ 2 ของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ยังขยายตัวที่ + 8.3% และ +0.9% ตามลำดับ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ขยายตัวได้ดีในกลุ่มที่มีมาตรการทางการค้ากับจีน ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องนุ่งห่ม รวมถึง อินเดีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญลำดับ 9 ขยายตัว +3.1% ถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพจะขยายตัวได้อีกมาก
  • สินค้า: แม้ว่ากลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมโดยส่วนใหญ่จะหดตัวในเดือนนี้ (อิเล็กทรอนิกส์ และแผงวงจรไฟฟ้า) ซึ่งเป็นผลชั่วคราวจากการอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสงครามการค้า ในกลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทอง) สิ่งทอ และอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญลำดับที่ 7, 9 และ 10 ของไทย ยังขยายตัวดีที่+3.5% + 1.9% และ +46.9% ตามลำดับ
  • การส่งออกที่โดดเด่นในเดือนนี้ ได้แก่ การส่งออกผักผลไม้ไปจีนและเวียดนาม ขยายตัวสูงถึง +89.3% และ +33.5% ตามลำดับ โดยเวียดนามนำเข้าผลไม้จากไทยเพื่อส่งต่อไปยังจีน รวมถึงการค้าผ่านช่องทาง E-Commerce ไปจีนขยายตัวได้ดีมาก โดยเฉพาะลำไย นอกจากนี้ มีอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีและขยายตัวต่อเนื่อง ในตลาดสหรัฐฯ อิตาลี เบลเยี่ยม และญี่ปุ่น ขยายตัว + 3.5% รวมถึง สินค้าไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ไปญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน และเกาหลีใต้ ขยายตัว +8.7%  
  • ล่าสุด สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีแนวโน้มคลี่คลายไปได้ในทิศทางที่ดี หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายมีความคืบหน้าในการเจรจาซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในช่วงต้นเดือน มี.ค. ตามที่ได้ตกลงกันไว้ กรมจึงประเมินว่า การชะลอตัวของการส่งออกของไทยจากเรื่องสงครามการค้าจึงน่าจะเป็นผลชั่วคราว และน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะปรกติได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 62 เป็นต้นไป รวมทั้งการส่งออกในหลายอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ดังนั้นจึงยังคงเป้าหมายการส่งออกในปี 62 ไว้ที่ +8% ซึ่งกรมจะได้ติดตามปัจจัยความท้าทายต่างๆ อย่างใกล้ชิดและจะประเมินสถานการณ์อีกครั้งในช่วงต้นเดือน เม.ย. 62
  • ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ช่วยผู้ประกอบการขับเคลื่อนการส่งออกในด้านช่องทางการตลาด กรมจะได้เร่งจัดกิจกรรมทั้งที่เป็นโครงการต่อเนื่อง และโครงการใหม่ๆ ที่จะมาช่วยผลักดันการส่งออกทั้งในตลาดและสินค้าศักยภาพ รวมทั้งสิ้น 111 กิจกรรม ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างรายได้สู่ประเทศกว่า 65,000 ล้านบาท โดยมีโครงการ Flagship ที่สำคัญ ดังนี้
  • งาน Sourcing Forum: จัดวันที่ 26 ก.พ. 62 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลลาดพร้าว  กรมได้เชิญผู้ซื้อและผู้นำเข้าจากต่างประเทศทั่วโลกกว่า 150 บริษัท เข้าร่วมงานเพื่อพบปะกับ     ผู้ส่งออกไทยกว่า 470 บริษัท ในกลุ่มสินค้าอาหาร แฟชั่น เกษตรออร์แกนิค เป็นต้น คาดว่าจะสร้างรายได้ภายใน 1 ปี กว่า 1,750 ล้านบาท
  • ฮ่องกง: ประตูสู่ตลาดจีนโดยเฉพาะใน Greater Bay Area  ในโอกาสที่ผู้บริหารเขตปกครองสูงสุดฮ่องกง (Carrie Lam) เดินทางมาเปิด Hong Kong Economic and Trade Office (HKETO) ที่ประเทศไทย จะมีการจัดสัมมนา “Thailand – Hong Kong Strategic Partnership” ในวันที่ 28 ก.พ. 62 เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทย-ฮ่องกง หลังจากนั้นคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์จะเดินทางเยือนฮ่องกง (18-22 มี.ค. 62) เพื่อขยายโอกาสธุรกิจภาพยนตร์และบันเทิงไทยในงาน Hong Kong International Film & TV Market (FILMART)
  • จีน: เจาะตลาดค้าออนไลน์ และเจาะตลาดรายมณฑล มุ่งผลักดันการส่งออกไปยังมณฑลศักยภาพทั้งในเมืองหลัก ได้แก่ กวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ ซานตง ปักกิ่ง และเมืองรองที่มีศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้แก่ เฉิงตู เซี่ยเหมิน คุนหมิง หนานหนิง ซีอาน ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ทั้งการส่งเสริมการขายร่วมกับห้าง Modern Trade เพื่อประชาสัมพัน์ให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น และในช่องทาง Online โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการ e-Commerce Platform ในจีน ได้แก่ กลุ่มอาลีบาบา (T Mall) KWG และ JD.com
  • อินเดีย: ตลาดใหม่ศักยภาพสูง ที่กรมให้ความสำคัญมาก ในปี 62 จะเน้นขยายตลาดการค้าออนไลน์ให้มากขึ้น โดยได้เชิญผู้แทนห้างค้าปลีกรายใหญ่จากอินเดีย อาทิ Reliance, Future Groupและ PayTM ซึ่งเป็น On-line Platform รายสำคัญของอินเดียมาเจรจาเลือกซื้อสินค้าไทยในกิจกรรมSourcing Forum เพื่อนำไปจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและประชาสัมพันธ์สินค้าไทยตามสาขาของห้างฯ ทั่วอินเดีย รวมถึงบน On-line Platform จากนั้นจะมีการจัดงานแสดงสินค้า Top Thai Brandsจำนวน 3 งาน คือ เมืองกัลกาตา (13-17 มี.ค. 62) เมืองมุมไบ (27-29 มิ.ย. 62) และเมืองเจนไน (2-4 ส.ค. 62) นอกจากนี้ ยังมีโครงการเจาะตลาดเจ็ดสาวน้อย เส้นทาง   กัลกาตา-สิริกุรี-นิวเดลี (12-18 พ.ค. 62) ซึ่งเป็นการนำคณะผู้ประกอบการไทยไปเจรจาการค้าและสำรวจลู่ทางในการขยายสินค้า/บริการไทยสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
  • แอฟริกา: กรมจะจัด Special Task Force (STF) ร่วมกับ EXIM Bank เพื่อสำรวจตลาดแอฟริกาเชิงลึก (แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย ไนจีเรีย โมรอคโค และตูนีเซีย) พร้อมหาโอกาสและช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าไทย (เม.ย.-พ.ค. 62) และจะต่อยอดผลการสำรวจโดยนำคณะผู้ประกอบการสินค้าเป้าหมาย (อาหาร เครื่องจักรการเกษตร) เดินทางไปจับคู่ธุรกิจในตลาดศักยภาพในแอฟริกา (ก.ค.-ส.ค. 62)
  • สำหรับโครงการต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดงาน STYLE (17-21 เม.ย. 62) และ THAIFEX (28 พ.ค. – 1 มิ.ย. 62) จะเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นผู้นำการส่งออกของทั้งกลุ่มสินค้าของขวัญ แฟชั่น และของตกแต่งบ้าน รวมถึงสินค้าอาหารของไทยในเวทีนานาชาติ โดยจะมีผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าจากทั่วโลกเดินทางเข้าไปเยือนไทยเพื่อเข้าเยี่ยมชมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงาน THAIFEX ปีนี้ซึ่งจะจัดแสดงศักยภาพของสินค้าเกษตรและอาหารครั้งยิ่งใหญ่ โดยเน้นกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้นวัตกรรมเป็นสำคัญ (Future Food)