‘สมคิด’ไล่บี้โปรเจ็กต์คมนาคม เร่งสปีดโชว์นักลงทุนก่อนเลือกตั้ง

“สมคิด” บุกคมนาคม ไล่บี้โปรเจ็กต์บก-น้ำ-ราง-อากาศ สปีดเครื่องให้สรุปภายใน ก.พ.-มี.ค.นี้ “อาคม” โยนเทอร์มินัล 2 มอบ ทอท. กลับไปทบทวนแผนแม่บท ขณะเดียวกันสั่งเร่งปิดดีล “ซีพี” รถไฟเชื่อม3 สนามบินภายใน ก.พ.นี้ พร้อมเร่งลงนามสัญญาไฮสปีดไทย-จีนครบ 4 ตอนภายใน พ.ค.นี้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและติดตามงานสำคัญของกระทรวงคมนาคมว่า ในช่วงไตรมาส 1-2 นี้ การลงทุนทั้งของเอกชนและรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมนั้น เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจากการประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง พบว่าการเบิกจ่ายงบประมาณมีการชะลอ จึงติดตามงานของกระทรวงคมนาคม อาทิ การขอความชัดเจนจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับเรื่องการจัดหาฝูงบินใหม่ โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้จะมีความชัดเจน ส่วนการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา จะต้องไม่มีการล่าช้า และจะต้องเร่งเจรจากับบริษัทแอร์ บัส เพื่อให้มีความคืบหน้าในการดำเนินการ รวมถึงได้กำชับให้ทางการบินไทยเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการทั้งหมด

ทั้งนี้ ในด้านบริษัท ท่าอากาศ ยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้มีการกำชับเรื่องการทำงานร่วมกันว่าจะสามารถเอื้อให้การบินไทยมีจุดเด่นในการแข่งขันโดยให้กรอบเวลาภายใน ก.พ.นี้ ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร และที่ผ่านมาได้มีการเบิกจ่ายการลงทุนล่าช้า จึงได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมไปหารือร่วมกับ ทอท.และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. เพื่อเร่งรัดให้สามารถเบิกจ่ายในส่วนที่ดำเนินการได้ก่อน

“ประเด็นหลัก ก็คือ ในขณะนี้การลงทุนทุนบางส่วน โดยเฉพาะต่างประเทศอยากเห็นความชัดเจนในส่วนของการเลือกตั้ง การลงทุนของไทยที่ไทยเป็นผู้กำหนดเองจะต้องไม่ช้า เพื่อให้เกิดการสมดุลด้านการลงทุนให้ได้ เนื่องจากการส่งออกของโลกยังไม่ค่อยดี จึงต้องพยายามจากภายในได้ และก็คาดหวังว่าช่วงไตรมาส 1-2 หากมีการเร่งลงทุนเต็มที่ในครึ่งปีแรกก็สามารถประคองตัวได้ รวมถึงครึ่งปีหลังจากที่การเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ก็จะเติบโตและพัฒนาขึ้นมาได้อย่างที่ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป” นายสมคิด กล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดแผนงานและโครงการของกระทรวงคมนาคม ทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศ ที่จะต้องมีความคืบหน้าและชัดเจนในหลายโครงการภายใน ก.พ.-มี.ค.นี้ โดยในส่วนของทางอากาศนั้น ได้เร่งรัดให้การบินไทย จัดซื้อเครื่องบินใหม่ รวม 38 ลำ ที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. พิจารณา รวมถึงโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) เพื่อเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทันสมัยระดับโลกนั้น ขณะนี้อยู่การระหว่างการเจรจาการร่วมทุนกับแอร์บัส คาดว่าจะสามารถสรุปได้ภายใน มิ.ย.นี้

ขณะเดียวกันได้กำชับให้ ทอท. เร่งรัดก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite) เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามที่ตั้งไว้ ขณะที่โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่, โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 หรือ รันเวย์ 3 และการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Wing) เป็นงานสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก (West Wing) นั้น เตรียมที่จะเสนอ ครม.ต่อไป ขณะที่โครงการขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 กระทรวงฯ ได้ให้ความเห็นส่งกลับไป ทอท.ตามความเห็นสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ โดยให้ชะลอโครงการก่อ สร้างอาคารเทอร์มินอลหลังที่ 2 และกลับไปดำเนินการทบทวนแผนแม่บท

ทั้งนี้ ในส่วนของทางราง โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. เงินลงทุน 179,412 ล้านบาทนั้น จะต้องลงนามในสัญญาให้ครบภายใน พ.ค. 2562 โดยตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ที่บริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริง จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาได้เร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ลงนามในสัญญาให้ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ขณะที่ ตอนที่ 3 ช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119 กม. สัญญาก่อสร้าง 5 สัญญา จะเดินหน้าประกวดราคาให้แล้วเสร็จภายใน มี.ค.-เม.ย.นี้ และตอนที่ 4 ช่วงบางซื่อ-แก่งคอย ระยะทาง 119 กม. สัญญาก่อสร้าง 7 สัญญา จะประกวดราคาให้แล้วเสร็จภายใน พ.ค.นี้ ในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน EEC จะต้องเจรจาจาสรุปให้ได้ภายใน ก.พ.นี้

นายอาคม กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 8 เส้นทางนั้น ประกอบด้วย ปากน้ำโพ-เด่นชัย, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-สงขลา, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, เด่นชัย-เชียงใหม่ อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูล เพื่อเสนอให้สภาพัฒน์ และเส้นทางบ้านไผ่-นครพนม ที่เตรียมเสนอ ครม.ภายใน ก.พ.-ต้น มี.ค.นี้ ทั้งนี้ โครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ประกอบด้วย ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา วงเงิน 1.02 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช และช่วงรังสิต – ธรรมศาสตร์ อยู่ระหว่างการนำเสนอ ครม. พร้อมกันทั้ง 3 เส้นทาง

ขณะที่ ในส่วนของทางน้ำนั้น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ตามที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. ได้ประกาศขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยมีเอกชนสนใจเข้าร่วมซื้อซองประกวดราคา จำนวนทั้งสิ้น 34 ราย เป็นรายใหม่ 9 ราย รายเดิม 25 ราย ได้เร่งรัดให้สรุปให้ได้ภายในปลาย มี.ค.-เม.ย.นี้ พร้อมเร่งให้ กทท. ดำเนินการโครงการ Smart Port ท่าเรือคลองเตย และโครงการปรับปรุงท่าเรือระนองด้วย ในส่วนของทางบกนั้น ความคืบหน้าโครงการทางพิเศษ พระราม 3-ดาวคะนอง ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. เตรียมที่จะประกวดราคาภายใน ก.พ.นี้ ขณะเดียวกัน ด้านแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ในขณะนี้อยู่ระหว่างการรอความเห็นจากสภาพัฒน์ ก่อนที่จะนำเสนอ ครม. ใน มี.ค.นี้