SO พบนักลงทุนวันออฟเดย์ ลั่นปักหมุดเป็น Tech Company รายใหม่ของเมืองไทย  ผนึกสตาร์ทอัพสร้างบริการแบบใหม่

นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ผู้นำด้านธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจร (Outsourcing Services)  เปิดเผยในงานวันที่ผู้บริหารพบนักวิเคราะห์และผู้ลงทุน (ออฟเดย์) เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2565 ว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา หลังบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เงินที่บริษัทได้นำเงินระดมทุนทำให้บริษัทเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น สรุปเป็น 3 ประเด็นหลักคือ

1.ช่วยปรับเปลี่ยนจากการเป็นบริษัทธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจรแบบดั้งเดิม (Traditional Outsourcing) เป็นบริษัทที่เข้าสู่การใช้เทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น หรือ Tech company เนื่องจาก SO มีบุคลากรทางด้านที่การใช้เทคโนโลยี (Peopleware) ทำให้มีฐานข้อมูล (Database) ด้านทรัพยากรบุคคล (Human Resource) มากกว่า 1 แสนคน ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งให้กับบริษัทเพราะส่งผลให้สร้างนวัตกรรมอื่นเพิ่ม ตั้งแต่ด้าน Peopleware ด้าน Software และ Hardware ที่จะนำไปสู่การบริการที่หลายหลายและครบวงจร (Fully Integrated Solution)

2.มีการตั้งแผนกเทคโนโลยี (Technology) และแผนกการลงทุน (Investment) แยกจากธุรกิจหลัก (Core Business) โดยเฉพาะ ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวสามารถมุ่งมั่นและโฟกัสในการสร้างธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ก้าวกระโดดใหม่ (New S-Curve) ทั้งทางด้าน Technology และ Digital Transformation ให้แก่สยามราชธานี หลังจากได้ปรับการทำงานลดลำดับขั้นตอนที่ยุ่งยากโดยใช้ Agile มากขึ้น

3.เริ่มเกิดความร่วมมือเซ็นสัญญาและร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ผู้ที่ให้บริการครบวงจรเหมือนกัน สตาร์ทอัพ ต่างๆ อาทิเช่น ความร่วมมือเพื่อสร้าง IT Infrastructure ร่วมกันกับ Huawei Technology การได้เป็นหนึ่งในผูู้ร่วมลงทุนพันธมิตร Strategic Partners ใน VC Fund ของ Krungsri Finnovate และยังอยู่ระหว่างการร่วมพัฒนา Outsourcing Solution ร่วมกันกับสตาร์ทอัพ รวมถึงเริ่มตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ทางด้านยุทธศาสตร์ของบริษัท เพื่อนำไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่อนาคตจะร่วมกันพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่นต่างๆ ให้เกิดขึ้นเพื่อใช้ในหน่วยงานของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

อย่างไรก็ดี  ปี 2565 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จากปีก่อนที่ทำได้ 2,086 ล้านบาท จาก 2 แรงขับเคลื่อนหลักคือ 1.การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริการการจ้างเหมาบริการครบวงจรมากขึ้น เพื่อให้เกิดการวิจัยและการพัฒนา (R&D) และเกิดนวัตกรรมใหม่เพิ่มขึ้น และ 2.การพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ กับพันธมิตรของบริษัท รวมถึงพร้อมที่จะลงทุนธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นเมื่อมีโอกาส เนื่องจากมองว่าจะช่วยให้เกิดทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ และการบริการรูปแบบใหม่ที่จะสามารถตอบโจทย์ตามความต้องการลูกค้าได้หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทขยายฐานได้กลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกด้วย