กทปส. เผยทิศทางการดำเนินงานปี 65 ผนึก SME Bank ช่วยกลุ่ม Sme-Start up

กทปส. เป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐที่ให้ทุนกับผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการวิจัยและพัฒนาโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ที่ผ่านมานั้นผู้เข้ามาขอทุนส่วนมากจะเป็นหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล มูลนิธิ หรือสมาคม พร้อมประกาศทิศทางการดำเนินงานและจัดสรรทุนในปี 2565 กทปส. ตั้งเป้าชวนเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพไทย เข้ามาเสนอโครงการเพื่อรับทุนไปทำงานวิจัยและพัฒนาที่เป็นประโยชน์กับประเทศจนนำไปสู่การต่อยอดทางการค้าได้

นายชาญวุฒิ อำนวยสิน ผู้อำนวยการสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา เปิดเผยว่า สำหรับกรอบวงเงินปี 2565 จะมีความต่างจากปี 2564 คือ ทุนประเภทที่ 1 กทปส. ไม่กำหนดกรอบวงเงิน เนื่องจากว่าหน่วยงานมีแผนแม่บทปี พ.ศ. 2563-2566 เมื่อดำเนินการมาครึ่งหนึ่งจะต้องมีการทบทวนแผนก่อนอีกครั้ง สำหรับทุนประเภทที่ 2 กำหนดไว้ที่ 720 ล้านบาท โดยจะแบ่งเป็น ด้านธุรกิจคมนาคมกระจายเสียง ด้านการบริหารความถี่ และการตกลงของหน่วยงานภาครัฐ โดยในปี 65 ได้เพิ่มด้านการตกลงของหน่วยงานภาครัฐเป็น 200 ล้านบาท และในส่วนของภารกิจด้านโทรคมนาคม ภารกิจด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์ อย่างละ 150 ล้านบาท และมีทุนต่อเนื่องอีก 30 ล้านบาท ส่วนทุนประเภทที่ 3 ขณะนี้ยังไม่กำหนดกรอบวงเงินเอาไว้ เพราะเป็นการให้ทุนวิจัยและพัฒนาในโครงการที่เป็นสถานการณ์เร่งด่วน อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในปี 63 มีการอนุมัติเงินไป 642 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งเป็นการให้ตามวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำโครงการ ตัวอย่าง การทำห้องความดัลบ การติดตั้งอุปกรณ์ IoT เพื่อช่วยสถานการณ์โควิด-19 ส่วนทุนประเภทที่ 4 จัดสรรทุนให้กองทุนสื่อ มีงบประมาณปีละ 500 ล้านบาท ซึ่งแต่ละสื่อก็มีวิธีการบริหารจัดการของตัวเอง

สำหรับความท้าทายของการทำงานปี 65 จากที่ได้นำเสนอแผนการดำเนินการให้กับคณะกรรมการฯ เชิญชวนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพเข้ามาขอทุนมากขึ้น เพราะในข้อกฎหมายสามารถให้ได้ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีผู้ยื่นเข้ามาขอทุนเลย โดยล่าสุด กทปส. ได้ร่วมกับ SME Bank ในการร่วมมือโดยเบื้องต้นทาง SME Bank ได้ผ่านบอร์ดพิจารณาในเรื่องหลักการทั่วไปแล้ว ส่วนทาง กทปส. ได้ผ่านบอร์ดบริหารกองทุนเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือต้องกำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกับ SME Bank และสมาพันธ์ SME และ สมาคม Startup รวมถึง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่าจะมีหลักเกณฑ์อย่างไร ก่อนนำเข้าอนุยุทธศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง
ทางด้านกระบวนการดำเนินงานจะมีการกำหนดขั้นตอน คุณสมบัติ วิธีการ และขั้นตอนการให้ทุน ซึ่งทางผู้ใหญ่อาจจะมองว่า การที่ธนาคารให้สินเชื่อจะได้เงินต้นคืนมา แต่การให้ทุนเป็นการให้เปล่า ซึ่งจะต้องมีความรัดกุม โดยได้ศึกษาต้นแบบจากหน่วยงานที่เคยทำลักษณะดังกล่าว เพื่อให้เกิดความรอบคอบและรัดกุมตามวัตถุประสงค์ ซึ่งไม่น่าจะเกินเดือนกุมภาพันธ์ 65 จะสามารถเข้าคณะยุทธศาสตร์เรื่องของหลักเกณฑ์ทั่วไปให้จบ อย่างไรก็ตามในการจัดสรรทุนและการดำเนินงานของ กทปส. มีความแตกต่างจากดีป้า (depa) และสำนักนวัตกรรม (NIA) ซึ่งการให้ทุนของ กทปส. จะไม่ซับซ้อนกับหน่วยงานอื่น โดยฝ่ายปฏิบัติงานจะมีการตรวจสอบโครงการที่ยื่นเข้ามาซ้ำกันหรือไม่ หากซ้ำก็จะไม่ให้ทุน

นอกจากนี้ กทปส. อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการให้ทุนกับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพโดยจะให้จัดสรรทุนตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากหน่วยงานอื่น เพราะกทปส. มีข้อกฎหมาย เช่น ให้ในเรื่องของการสนับสนุนบริการเข้าถึงโทรคมนาคมกระจายเสียงและโทรทัศน์ 2 คือด้านการวิจัยและพัฒนา 3 คือด้านการพัฒนาคนตามกิจการโทรคมนาคมกระจายเสียงและโทรทัศน์ เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์ในการให้ทุนนั้นจะแตกต่างกัน

“หลังจากวิกฤตโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการสร้างการรับรู้ข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ลดลง ซึ่งจากการประชุมทางอนุกรรมการบางท่านอยากจะให้ออกบูธประชาสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อจะได้มีการเข้ามาขอทุนเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา กทปส. เคยจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ 4 ภาค ให้ความรู้เกี่ยวกับการให้ทุน” นายชาญวุฒิ อำนวยสิน กล่าวทิ้งท้าย