สมาคมนักวิชาการอ้อยฯ และพันธมิตรอ้อยยั่งยืน (SHEEP) อัดฉีดความรู้ทายาทรุ่นใหม่ใช้โดรนเกษตร

สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ร่วมกับพันธมิตร SHEEP ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ซินเจนทา ไทยชูการ์ มิลเลอร์ และสมาคมเกษตรปลอดภัย จัดอบรมโครงการพัฒนาทายาทเกษตรกรผู้ใช้โดรนในไร่อ้อยและผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Farmer’s Club) ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลภาคที่ 2 จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในภาคเกษตร เพิ่มความแม่นยำในการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต ลดการใช้สารอารักขาพืชและลดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย

ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร ค่าแรงสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและการทวีความรุนแรงของศัตรูพืช ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเกษตรจำเป็นต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าใช้อย่างเร่งด่วน “โดรน” เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญและช่วยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยใช้สำรวจแปลงปลูกเพื่อระบุตำแหน่งพื้นที่ ศัตรูพืช สภาพอากาศ และใช้ในการพ่นสารปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เช่น สารอาหารบำรุงการเจริญเติบโต สารอารักขาพืช ในบริเวณแปลงปลูกที่เครื่องจักรชนิดอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออ้อยมีความสูงถึง 6 เมตร

นางสาวรัตนา ของเดิม เกษตรกรไร่อ้อยรุ่นใหม่ คลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวเสริมว่า โครงการนี้ ให้ความรู้เพิ่มขึ้นในหลายเรื่อง เทคนิคในการบิน การผสมและการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ทำให้สามารถนำไปใช้จริงได้อย่างถูกต้อง ช่วยลดเวลาในการทำงานลง ไม่ต้องใช้แรงงานคน สะดวกและจัดการแปลงปลูกได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออ้อยโตมากกว่า 1 เมตร โดรนช่วยได้เป็นอย่างมาก ความคิดเห็นส่วนตัว อยากให้เพื่อนเกษตรกรหันมาใช้โดรนกัน ยิ่งมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 200 ไร่ ซื้อใช้เองก็คุ้มแล้ว

นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ Value Chain and Stewardship Lead, Thailand บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด หรือ ซินเจนทา หนึ่งในพันธมิตร SHEEP กล่าวว่า การใช้ปัจจัยการผลิตกับโดรนเกษตรปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้น เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการบริหารจัดการแปลงปลูกลด ปัญหาเรื่องแรงงาน และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีต่อพืชที่ได้รับผลกระทบกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นการเสริมความรู้สร้างศักยภาพเกษตรกร ให้ใช้โดรนเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวินิจฉัยศัตรูพืช เทคนิคการใช้ปัจจัยทางการเกษตร การใช้สารเคมีเกษตรกับโดรนเกษตร รวมถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ พืชปลูก และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นหัวใจสำคัญของซินเจนทาที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย การจัดอบรมเชิงปฏิบัติครั้งนี้ จึงได้รับความสนใจจากลูกหลานชาวไร่อ้อย ที่จะเป็นทายาทสืบต่อการปลูกอ้อยในรุ่นต่อ ๆ ไป เป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่มีความสนใจและพร้อมที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้ในการเกษตร มีกิจกรรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคสนาม เพื่อให้ทายาทชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ ได้เข้าถึง เข้าใจ นำนวัตกรรม เทคโนโลยี ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพแม่นยำในการปลูกอ้อย

“สำหรับโครงการพัฒนาทายาทเกษตรกรผู้ใช้โดรนในไร่อ้อยและผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Farmer’s Club) นอกเหนือจากการพัฒนาความรู้และเสริมทักษะภาคปฏิบัติแล้ว เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อซื้อโดรนสำหรับการเป็นนักบินโดรนในไร่อ้อยได้ โดยพันธมิตรโครงการ “ความยั่งยืนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ด้านสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ” หรือ Social, Health, Environment, Economics, Partnership for Sustainable Sugarcane (SHEEP for Sustainable Sugarcane) ได้ร่วมกันผลักดันโครงการ เพื่อตอบสนองการนโยบายภาครัฐในการทำเกษตรแม่นยำสูง และสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยจะมีโรงงานน้ำตาล และเครือข่ายสมาคมชาวไร่อ้อยเข้าร่วมในโครงการนี้อีกด้วย” ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ กล่าวสรุป

สำหรับผู้ที่สนใจและเกษตรกรชาวไร่อ้อย สามารถดาวโหลดเอกสาร ได้ที่ https://shorturl.at/ghqO5

โครงการ “ความยั่งยืนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ด้านสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ” หรือ Social, Health, Environment, Economics, Partnership for Sustainable Sugarcane (SHEEP for Sustainable Sugarcane) เป็นการผสานความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย สมาคมเกษตรปลอดภัย บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด และบริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด เพื่อดำเนินงานทางวิชาการ โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบบริหารจัดการทั้งระดับฟาร์มและโรงงานที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล พร้อมยกระดับสู่สากลในมาตรฐาน 5 ด้าน ได้แก่
1) ด้านสังคม (S-Social) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯมีความสุข
2) ด้านสุขภาพ (H-Health) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯและผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี
3) ด้านสิ่งแวดล้อม (E-Environment) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯใส่ใจสิ่งแวดล้อม
4) ด้านเศรษฐกิจ (E-Economics) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯ มีความเป็นอยู่ที่ดี
5) ด้านพันธมิตร (P-Partnership) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน