ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังอุปทานมีแนวโน้มตึงตึวขึ้น

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (4–8 ก.พ.62 )

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากแรงหนุนของตลาดน้ำมันดิบที่ตึงตัว เนื่องจากอุปทานในกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย เวเนซุเอลา และลิเบีย คาดว่าจะปรับตัวลดลง หลังโอเปกประเทศลดกำลังการผลิต ลิเบียเผชิญกับสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ และการประกาศคว่ำบาตรเวเนซุเอลาโดยสหรัฐฯ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนส่งสัญญาณที่ดีต่อตลาด หลังทั้งสองฝ่ายหันหน้ามาเจรจากัน

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง แต่กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • จับตาการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่คาดว่าจะทำให้ตลาดน้ำมันดิบตึงตัวขึ้น หลังผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตลงราว 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน โดยล่าสุดซาอุดิอาระเบียจะปรับลดกำลังการผลิตในเดือน ก.พ.62 ลงต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้ราว 200,000 บาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ 10.1 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่รัสเซียเผยว่าจะร่วมมือลดกำลังการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา รัสเซียปรับลดกำลังการผลิตลงราว 50,000 บาร์เรล/วัน เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตในเดือน ต.ค.61 ซึ่งเป็นระดับอ้างอิง
  • ตลาดกังวลกับภาวะอุปทานตึงตัว หลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลา ในวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อกดดันรัฐบาลของเวเนซุเอลาภายใต้การนำของประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ที่ถูกวิเคราะห์ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาล่มสลาย และส่งผลให้เวเนซุเอลาไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบไปยังสหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาไปยังสหรัฐฯ ราว 500,000 บาร์เรล/วัน อาจต้องส่งออกไปยังประเทศอื่นแทนเช่น จีน อินเดีย เป็นต้น และในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯ จำเป็นต้องหาแหล่งผลิตน้ำมันดิบอื่นมาทดแทนปริมาณที่ขาดหายไปจากการนำเข้าน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลา อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัวในสหรัฐฯ รัฐบาลกำลังพิจารณาขายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR)
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มปรับลดลง หลังสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศยังคงรุนแรง ส่งผลให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดของลิเบียอย่าง แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara กำลังการผลิตราว 300,000 บาร์เรล/วัน ต้องหยุดดำเนินการตั้งแต่เดือน ธ.ค.61 โดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) เผยว่าปัจจุบันกำลังการผลิตของประเทศอยู่เหนือระดับ 900,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งปรับลดลงจากค่าเฉลี่ยในปี 2560 ที่อยู่ที่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรล/วัน
  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มคลี่คลาย หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ หารือกันเพื่อแก้ปัญหาในวันที่ 30-31 ม.ค.62 โดยหลังจากการหารือ 2 วัน จีนให้คำมั่นว่าจะซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น และทั้งสองฝ่ายจะนัดประชุมกันอีกครั้งก่อนการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจะเริ่มบังคับใช้ในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อยุติปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับ กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 25 ม.ค.62 รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 0.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 445.9 ล้านบาร์เรล อันเป็นผลมาจากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงราวร้อยละ 2.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 90.1 ในขณะที่กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.9 ล้านบาร์เรล/วัน
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการบริการจีน ยอดค้าปลีกยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตยูโรโซน ดัชนีภาคการบริการยูโรโซน และดัชนีราคาผู้ผลิตยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 ม.ค. -1 ก.พ.62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.57 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 62.75 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.11 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 55.26 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 61 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกปรับตัวลดลง เนื่องจากกลุ่มโอเปกนำโดยซาอุดิอาระเบียเริ่มปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ลิเบียเผชิญความขัดแย้งภายในประเทศ ทำให้ต้องหยุดดำเนินการแหล่งผลิตน้ำมันดิบชั่วคราว รวมถึงเวเนซุเอลาซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศของกลุ่มโอเปก ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมัน ส่งผลให้ตลาดกังวลกับภาวะอุปทานตึงตัว

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีน รวมถึง ความไม่แน่นอนจากการที่อังกฤษอาจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไม่มีการทำข้อตกลง