งาน CIIE ครั้งที่ 4 – กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าครั้งยิ่งใหญ่ของโลกภายใต้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

แม้ว่าโรคโควิด-19 ยังคงระบาดอย่างรุนแรงทั่วโลก แต่จีนยังคงเป็นเจ้าภาพจัดงาน มหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติแห่งประเทศจีน(China International Import Expo หรือ CIIE) ครั้งที่ 4 ในนครเซี่ยงไฮ้ระหว่างวันที่ 5 – 10 พฤศจิกายนนี้ตามกำหนด โดยจีนพร้อมจะทำให้งานนี้เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าอันยิ่งใหญ่ของโลกอีกครั้งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมนิทรรศการสินค้านำเข้านานาชาติแห่งประเทศจีนและรัฐบาลนครเซี่ยงไฮ้ว่า ได้เตรียมการพร้อมแล้วในทุกด้าน  สำหรับมหกรรม CIIE ครั้งที่ 4 นั้นมีการแบ่งส่วนงานตั้งแต่ “งานนิทรรศการประเทศ” งานแสดงสินค้าที่แบ่งตามรายวิสาหกิจ จนถึง “ฟอรั่มหงเฉียว” และกิจกรรมสนับสนุนอื่นๆ โดยจะมี 58 ประเทศและ 3 องค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ประเทศ พร้อมผู้ประกอบการประมาณ 3,000 รายจาก 127 ประเทศ เข้าร่วมจัดแสดงสินค้า

โดยจำนวนประเทศและวิสาหกิจที่เข้าร่วมงานในปีนี้ต่างมากกว่าครั้งก่อน บริษัท ห้างร้าน ที่เป็นผู้ซื้อ มาจากมณฑลต่างๆของจีน ได้ลงทะเบียนร่วมงานอย่างคึกคัก โดยจะมี 39 ทีมจัดซื้อรายใหญ่และ 599 ทีมย่อยเข้าร่วมงาน

อนึ่ง “งานนิทรรศการประชาสัมพันธ์ประเทศ” ปีนี้จะจัดขึ้นทางออนไลน์เป็นครั้งแรก ด้วยเทคโนโลยีใหม่ผู้เข้าชมสามารถรับรู้เนื้อหาเกี่ยวกับความสำเร็จในการพัฒนา อุตสาหกรรมที่มีความเหนือกว่า การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และอื่นๆ ของประเทศที่เข้าร่วมงาน

ส่วนงานแสดงสินค้าของวิสาหกิจต่างๆ จะยังคงแบ่งพื้นที่จัดแสดงเป็น 6 โซน ประกอบด้วยโซนอาหารและสินค้าเกษตร, โซนรถยนต์, โซนอุปกรณ์ทางเทคนิค, โซนสินค้าอุปโภคบริโภค, โซนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรคและการดูแลสุขภาพ และโซนการค้าสินค้าภาคบริการ พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการทั้งหมดขยายเพิ่มเป็น 366,000 ตารางเมตร

อัตราการเข้าร่วมงานติดต่อกันในแต่ละปี ของกลุ่มบริษัทชั้นนำ 500 อันดับแรกและวิสาหกิจที่ทรงอิทธิพลในสาขาต่างๆของโลก เข้าร่วมเกินกว่า 80% ซึ่งสูงกว่าระดับเดียวกันในครั้งที่แล้ว

เจ้าภาพจัดงานแนะนำว่า “หากเปรียบเทียบกับงาน CIIE สามครั้งที่ผ่านมา ประเทศที่มีวิสาหกิจเข้าร่วมงานค่อนข้างมากกว่าในครั้งที่ผ่านๆมา ประเทศที่มาเข้าร่วม เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และประเทศอื่นๆ

ในครั้งนี้มีจำนวนวิสาหกิจและเนื้อที่จัดแสดงสินค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นหรือคงไว้ในระดับเดียวกัน บรรดาบริษัทและห้างร้านต่างลงทะเบียนร่วมงานอย่างแข็งขัน และในขณะเดียวกัน ยังมีบริษัท 90 แห่งจาก 33 ประเทศด้อยพัฒนาที่สุดเข้าร่วมงานนิทรรศการครั้งนี้ด้วย”

เพื่อป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 นครเซี่ยงไฮ้ได้ประกาศแผนโดยรวมเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคโควิด คำแนะนำที่ต้องรับรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคระบาด จุดบริการตรวจกรดนิวคลีอิก และข้อมูลข่าวสารอื่นๆ ของงาน CIIE ครั้งที่ 4 โดยจะโฟกัสที่ “คน สิ่งของ และหอนิทรรศการ”  จะใช้มาตรการต่างๆ เช่น “การบริหารจัดการแบบวงปิดตลอดเวลา การตรวจสอบย้อนหลังได้ทั่วทั้งห่วงโซ่ การฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม การทดสอบกรดนิวคลีอิกอย่างครบถ้วน การตรวจสอบอนุมัติก่อนเข้าร่วมงานโดยไม่มีการยกเว้น และการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวในสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม “

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีบริษัทระดับโลกจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ได้เร่งความเร็วในการลงลึกขยายธุรกิจในจีนโดยถืองาน CIIE เป็นหน้าต่างบานสำคัญ ตัวอย่างเช่น ในช่วงหยุดฉลองวันชาติจีนปีนี้ ร้านค้าต้นแบบแบรนด์เลโก้ในเมืองกว่างโจวได้เปิดทำการอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นร้านค้าแบรนด์เลโก้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

หนี จื้อเหว่ย ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มบริษัทเลโก้กล่าวว่า CIIE ให้การสนับสนุนบริษัทต่างชาติต่อยอดการลงทุน พัฒนา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆในประเทศจีนต่อเนื่อง ช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ในจำนวนร้านค้าปลีกเปิดใหม่กว่า 60 แห่งในทั่วโลกของบริษัทเลโก้นั้น มีมากว่า 40 แห่งตั้งอยู่ในประเทศจีน

นิโคลัส เฮียโรนิมัสNicolas Hieronimusซีอีโอของกลุ่มบริษัทลอรีอัลกล่าวว่า “ด้วยพลังกระตุ้นจากอิทธิพลของ CIIE เราจะอัพเกรดสำนักงานใหญ่ในจีนซึ่งตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้ให้เป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียเหนือ ในอนาคตจีนจะกลายเป็นศูนย์กลางของเอเชียเหนือ โอกาสจากงาน CIIE นั้นน่าตื่นเต้นมาก ไม่เพียงแต่สามารถแสดงผลสำเร็จด้านนวัตกรรมของวิสาหกิจได้เท่านั้น หากยังเป็นหน้าต่างสำหรับบริษัทต่างๆ ในการรับรู้ถึงชีพจรของโครงสร้างใหม่แห่งการพัฒนาของจีนอีกด้วย”

สถิติแสดงให้เห็นว่ามีบริษัทจำนวนมากที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนาโดยเจาะจงต่อตลาดจีน หรือกระทั่งดำเนินการวิจัยและพัฒนาแบบ “อยู่ในจีนแต่เพื่อโลก”  นับถึงสิ้นเดือนสิงหาคมปีนี้ ยอดจำนวนศูนย์วิจัยและพัฒนาทุนต่างประเทศในเซี่ยงไฮ้มีถึง 500 แห่งแล้ว

บริษัทต่างประเทศที่มีชื่อเสียงหลายแห่งใช้ CIIE เป็นเวทีสำหรับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ตัวอย่างเช่น เหว่ย ซูเจี๋ย ประธานกรรมการและซีอีโอประจำประเทศจีนของบริษัทมิชลินแนะนำว่า บริษัทจะจัดแสดงตัวอย่างรถแข่งพลังงานไฮโดรเจนในงาน CIIE ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นนวัตกรรมล่าสุดของบริษัทมิชลิน วัตถุดิบยางเกือบครึ่งหนึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ นี่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทมิชลินสนับสนุนวิสัยทัศน์สีเขียวและคาร์บอนต่ำ เขาเชื่อว่า “CIIE ไม่ได้เป็นเพียงแพลตฟอร์มการค้าและการลงทุนเท่านั้น แต่ยังเป็นหน้าต่างสำหรับการเจรจาและแลกเปลี่ยนของฝ่ายต่างๆ อีกด้วย”

หน่วยงานศุลกากรจีนได้ยกระดับการให้บริการอำนวยความสะดวกแก่บริษัทต่างชาติในการส่งผลิตภัณฑ์เข้าร่วมจัดแสดงในงาน CIIE อย่างต่อเนื่อง ด้วยพิธีการทางศุลกากรแบบไม่ใช้กระดาษ ได้บรรลุ “การผ่านพิธีการศุลกากรในเสี้ยววินาที” แล้ว เช่น ตัวอย่างรถแข่งมิชลิน ก่อนเที่ยวบินสินค้าจะลงจอด หน่วยงานศุลกากรได้จัดทำแผนการพิเศษร่วมกับบริษัทการบินและโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องไว้ล่วงหน้า หลังจากที่บริษัทนำเข้าอัปโหลดไฟล์เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านช่องทางเฉพาะสำหรับวิสาหกิจในหน้าจอ ก็สามารถบรรลุการตรวจสอบเอกสารทางออนไลน์ของหน่วยงานศุลกากรและผ่านพิธีการทางศุลกากรได้เลย

ศักยภาพทางการตลาดที่ยิ่งใหญ่ของจีนย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่งาน CIIE “ยิ่งจัดยิ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น” ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุว่า นับถึงสิ้นปี 2020 จีนได้กลายเป็นตลาดนำเข้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกติดต่อกันเป็นเวลา 12 ปีแล้ว และเป็นเป้าหมายปลายทางหลักในการส่งออกสินค้าของหลายประเทศและภูมิภาค

ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนของปีนี้ จีนนำเข้าสินค้าคิดเป็นมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.6% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีที่แล้ว สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากมุมมองระหว่างประเทศ ตามข้อมูลล่าสุดขององค์การการค้าโลก ส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศของจีนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับระยะเดียวปีที่แล้ว อยู่ในระดับ 12% จีนทำให้การนำเข้าสินค้าทั่วโลกเพิ่มขึ้น 15%

อนึ่ง กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงข่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า จีนจะขับเคลื่อนการเปิดประเทศในระดับสูงอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ต่อไป ขยายการนำเข้าอย่างแข็งขัน ผลักดันการเชื่อมต่อตลาดภายในและภายนอก และแบ่งปันทรัพยากรสำคัญ เพื่อให้ตลาดจีนกลายเป็นตลาดโลก ตลาดที่ร่วมแบ่งปัน และตลาดของทุกคน

ไทยจัดแสดงอะไรในงาน CIIE ครั้งที่ 4

มหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน หรือ CIIE ครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 5 – 10 พฤศจิกายนนี้ ประเทศไทยเตรียมจัดแสดงอะไรบ้างในงานการค้าระดับชาติของจีนครั้งนี้ ผู้คนทั้งหลายสามารถค้นหาคำตอบได้บ้างจากหอนิทรรศการเสมือนของไทยทางเว็บไซต์ CIIEที่ https://country.ciie.org/2021/Thailand/นิทรรศการของประเทศต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบสำคัญในงาน CIIE โดยจะเปิดสถานที่ให้ประเทศต่าง ๆ จัดแสดงเพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศผ่านการประชาสัมพันธ์ผลสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ความเหนือกว่าด้านอุตสาหกรรมการผลิต การค้า การลงทุน วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และธุรกิจที่เป็นตัวแทน เป็นต้น

ปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่ไทยเข้าร่วมงาน CIIE กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ไทย ได้แนะนำโครงการ “Think Thailand” ในนิทรรศการของไทยในงาน CIIE โดยระบุว่า คิดเรื่องการผลิตมือชีพ หรือ ความคิดสร้างสรรค์ โปรดคิดถึงประเทศไทย คิดถึงเรื่องเพชรนิลจินดาอันสวยงามและการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ โปรดคิดถึงประเทศไทย คิดเรื่องข้าวและผลิตภัณฑ์ยางพาราดีที่สุดในโลก โปรดคิดถึงประเทศไทย คิดเรื่องอาหารคุณภาพสูง โปรดคิดถึงประเทศไทย

ขณะเปิดชมวีดิทัศน์เรื่อง “ไทยเป็นโรงงานอาหารโลก” ในนิทรรศการเสมือนจริงของไทยจะเรียนรู้ว่าเมืองไทยมีความหลากหลายทางอาหารมาก โดยมีอาหารอินทรีย์ อาหารฮาลาล อาหารแปรรูป และอาหารจานด่วน เป็นต้น รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแปรรูปอาหารครบวงจร ประเทศไทยสัญญาต่อผู้บริโภคทั่วโลกว่า ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว จัดซื้อ หีบห่อ ขนส่ง ไปจนถึงการจัดส่งถึงมือผู้บริโภค ตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทยต่างมีมาตรการความปลอดภัยเข้มงวด ไทยไม่เพียงแต่ตอบสนองอาหารที่มีความหลากหลายและรสชาติอร่อยเพียงพอแก่ทั่วโลกเท่านั้น หากยังทำให้การรับประทานอาหารกลายเป็นเรื่องที่ทำได้สะดวก รวดเร็ว และสุขสบาย ขณะเดียวกันไทยยังประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ Thai Select ที่บ่งบอกถึงอาหารไทยต้นตำรับขนานแท้ในงาน CIIE ด้วย

นอกจากนี้นิทรรศการของไทยยังประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่นแห่งนายกรัฐมนตรีไทย (Prime Ministers Export Award 2021) ตราสัญลักษณ์ T Mark (Thailand Trust Mark) สัญลักษณ์แห่งความยอดเยี่ยมและคุณภาพที่ได้รับการยอมรับ ตราสัญลักษณ์ DEmark (Design Excellence Award) รางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี และตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพข้าวหอมมะลิ เป็นต้น ตราสัญลักษณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์รวมถึงการบริการของไทย เพื่อประกันให้บรรดาผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพจากประเทศไทย

ด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว นิทรรศการของไทยเปิดฉายวีดิทัศน์เรื่อง ไทยมุ่งมั่นพัฒนาเป็นศูนย์ดูแลสุขภาพโลกโดยแนะนำวิธีการบำรุงสุขภาพดั้งเดิมแบบไทย ห้องออกกำลังกายทันสมัยที่เปิดสอนมวยไทย สปา และการทำสมาธิ เป็นต้น ประกอบกับผู้ฝึกสอนมืออาชีพที่ให้บริการอย่างละเอียดประณีตและอบอุ่น ซึ่งความเหนือกว่าเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยเป็นที่นิยมชมชอบของผู้ที่สนใจดูแลสุขภาพจากทั่วโลก นอกจากนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยยังใช้นโยบายต่าง พัฒนาเศรษฐกิจความคิดสร้างสรรค์ ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมการผลิตดิจิทัลของไทย ซึ่งรวมถึงวัฒนธรรมที่มีความคิดสร้างสรรค์และการถ่ายทำภาพยนตร์ เป็นต้น ต่างได้รับการต้อนรับจากทางสากล

งาน CIIE ครั้งที่ 4 ในปีนี้แบ่งพื้นที่จัดนิทรรศการออกเป็น 6 เขต ได้แก่ เขตจัดแสดงอาหารและผลิตผลทางการเกษตร เขตจัดแสดงรถยนต์ เขตจัดแสดงเทคโนโลยีและอุปกรณ์ เขตจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผู้บริโภค เขตจัดแสดงเวชภัณฑ์และการดูแลสุขภาพ ตลอดจนเขตการค้าภาคบริการ โดยมีสินค้าเกือบ 200 ชนิดจากหลายสิบธุรกิจของไทยเข้าร่วมนิทรรศการครั้งนี้ สินค้าไทยส่วนใหญ่ร่วมจัดนิทรรศการในเขตจัดแสดงอาหารและผลิตผลทางการเกษตร รวมถึงเขตจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคเป็นหลัก เมื่อเดินชมนิทรรศการในสองเขตนี้จะพบบูธเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท ฟู้ด ออนวาร์ด จำกัด บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด บริษัท ไทย ดีญ่า จำกัด และ สถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งเอเชีย (AIGS) เป็นต้น ในเขตจัดแสดงเวชภัณฑ์และการดูแลสุขภาพ มีบูธของบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดสัทรีจำกัด และบริษัท เฉลิมไทย อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ซึ่งเป็น 2 บริษัทไทย ส่วนธนาคารกสิกรไทยเป็นธุรกิจไทยเพียงรายเดียวที่เข้าร่วมนิทรรศการในเขตจัดแสดงการค้าภาคบริการ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซินหัวที่กรุงเทพฯ โดยระบุว่า ถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธุรกิจไทยบางรายไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมงาน CIIE ปีนี้ที่นครเซี่ยงไฮ้ได้ก็ตาม แต่จำนวนธุรกิจไทยที่จะเข้าร่วมงาน CIIE ปีนี้ยังเพิ่มมากกว่าปีที่แล้วถึง 17 ราย เฉพาะธุรกิจที่ร่วมจัดแสดงในหอนิทรรศการประเทศไทยก็มีถึง 43 ราย

การค้าระหว่างจีน-ไทยดำเนินมาเป็นเวลาช้านานและเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด จีนเป็นหุ้นส่วนการค้าอันดับหนึ่งของไทย และเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารจากไทยมากที่สุด ตลอดช่วง 2 3 ปีที่ผ่านมาตลาดของเล่นเด็กในจีนเจริญรุ่งเรืองขึ้นสร้างโอกาสแก่บรรดาธุรกิจส่งออกของเล่นเด็กของไทย สถิติจากกระทรวงพาณิชย์ไทย ระบุว่า ไตรมาสแรกของปีนี้ จีนนำเข้าของเล่นเด็กจากเมืองไทยคิดเป็นมูลค่า 13.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าระยะเดียวกันของปี 2020 ร้อยละ 1.6

งาน CIIE ไม่เพียงแต่ช่วยให้ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์คุณภาพดีสู่จีนมากขึ้นเท่านั้น หากยังมีส่วนช่วยให้ธุรกิจไทยเรียนรู้ตลาดจีนมากยิ่งขึ้นด้วย ขณะเดียวกันงาน CIIE ยังสร้างโอกาสแก่ธุรกิจไทยประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้านานาชาติ ตลอดจนศึกษาเรียนรู้ตลาดโลกให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้หวังว่าบรรดาธุรกิจไทยที่เข้าร่วมงาน CIIE จะได้รับคำสั่งซื้อจำนวนมากสมความปรารถนา

โดย : ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน(CMG)