วีซ่า ร่วมกับ Siam Hop ผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการคมนาคมสู่ระบบดิจิตอล

วีซ่า ผู้ให้บริการด้านการชำระเงินในรูปแบบดิจิตอลระดับโลก ประกาศ Siam Hop ผู้ให้บริการรถบัสนำเที่ยวอัจฉริยะ (smart hop-on-hop-off city sightseeing bus) เป็นรถบัสนำเที่ยวอัจฉริยะรายแรกในประเทศไทยที่เปิดรับชำระเงินผ่านบัตรวีซ่าทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์

การประกาศรับชำระเงินผ่านบัตรวีซ่า โดย Siam Hop จะช่วยเพิ่มความสะดวกและวิธีการชำระเงินให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร และมีไลฟ์สไตล์แบบไม่พกเงินสด การเป็นพันธมิตรร่วมกันระหว่าง วีซ่า และ Siam Hop ในครั้งนี้จะช่วยให้สามารถบริการลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงการเพิ่มศักยภาพในระบบการเดินรถในกว่า 50 จุด ซึ่งมีเส้นทางครอบคลุมถึงสี่เส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

คุณสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การเพิ่มจุดชำระเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหนึ่งในเรื่องที่ วีซ่า ให้ความสำคัญสูงสุดสำหรับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอันดับต้นๆของโลก จึงทำให้ร้านค้าพันธมิตรของเราต่างต้องการที่จะพัฒนาการให้บริการและความพึงพอใจของลูกค้า รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การเติบโตทางธุรกิจ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย”

ผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลกของวีซ่า (Visa Global Travel Intentions Study)[1] แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายการเดินทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก (13 เปอร์เซ็นต์) และนักท่องเที่ยวจากเอเชียแปซิฟิก (18 เปอร์เซ็นต์) และการเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล และขยายจุดชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น

คุณจิระเดช ห้วยหงส์ทอง ประธานบริษัทโทเทล บิช คอนเนค ผู้ให้บริหาร Siam Hop กล่าวว่า “พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเรื่องการชำระเงิน นั้นจึงเป็นเหตุผลที่เราต้องการจะเพิ่มช่องทางการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ลูกค้าที่ใช้บริการรถบัสนำเที่ยวของเรา ผู้โดยสารสามารถใช้บัตรวีซ่าในการซื้อตั๋วออนไลน์ล่วงหน้าก่อนการเดินทางได้ หรือตามจุดรับคนที่เรามีให้บริการทั่วกรุงเทพมหานครตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป เราเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยให้ Siam Hop มีโอกาสที่จะแสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมและสร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจน”

ความร่วมมือระหว่าง วีซ่า และ Siam Hop แสดงให้เห็นว่าระบบการชำระเงินดิจิตอลมาตรฐานสากลแบบเปิดสำหรับทุกเครือข่าย ในรถโดยสารนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับระบบขนส่งมวลชนของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ระบบขนส่งรถไฟใต้ดิน รถบัส และเรือโดยสารสาธารณะ

ระบบการชำระเงินมาตรฐานสากลแบบเปิดสำหรับทุกเครือข่ายนั้นช่วยให้ผู้โดยสารสามารถจ่ายค่าเดินทางได้ผ่านบัตรเครดิตหรือเดบิตของธนาคารที่มีเทคโนโลยีแบบไร้สัมผัสซึ่งให้บริการโดยผู้ให้บริการเครือข่ายการชำระเงินรวมถึง วีซ่า หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือมหานครลอนดอน ซึ่งการเดินทางในลอนดอนในทุกๆ วันมีผู้โดยสารกว่า 2.5 ล้านคน[2] ชำระค่าเดินทางผ่านบัตรที่ใช้เทคโนโลยีไร้สัมผัสสำหรับทุกเครือข่ายการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น รถบัส รถไฟใต้ดิน เรือ และรถไฟ จากความสำเร็จในครั้งนั้น วีซ่า จึงได้เปิดระบบการชำระเงินแบบไร้สัมผัสเพื่อเดินทางด้วยขนส่งมวลชนในอีก 46 เมือง และกำลังดำเนินการในอีก 66 เมือง โดยทั้งหมดล้วนเป็นการดำเนินงานร่วมกับผู้ให้บริการท้องถิ่น

โดยประโยชน์ที่ผู้โดยสารจะได้รับคือการไม่จำเป็นต้องพกบัตรเสริม หรืออุปกรณ์อื่นๆ ในการชำระเงิน โดยพวกเขาสามารถใช้บัตรพลาสติกแบบไร้สัมผัสที่ออกโดยธนาคาร หรือสมาร์ทโฟนในการชำระเงินค่าเดินทางได้ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ที่เข้าคิวในการเติมเงินเข้าในบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ระบบปิด (closed-loop cards) จึงทำให้พวกเขาสามารถเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกอีกที่หนึ่งได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ระบบการชำระเงินมาตรฐานสากลแบบเปิดสำหรับทุกเครือข่ายนั้นยังช่วยเพิ่มข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการขนส่ง โดยอ้างอิงจากการสำรวจผลวิจัย “เมืองไร้เงินสด” ของวีซ่า[3] ซึ่งพบว่าการชำระเงินในรูปแบบดิจิตอลจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งที่รัฐบาลต้องแบกรับ และยังเผยให้เห็นอีกว่าบริษัทขนส่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 14.5 เซนต์สหรัฐ ในทุกๆการรับเงินสด เมื่อเทียบกับการรับเงินในรูปแบบดิจิตอลที่มีต้นทุนเพียง 4.2 เซนต์สหรัฐ

“วีซ่าต้องการที่จะเป็นช่องทางการชำระและรับเงินที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนและทุกที่ เรายังต้องการช่วยให้ระบบขนส่งนั้นรวดเร็ว ง่าย และปลอดภัยสำหรับผู้ถือบัตรทุกคนไม่ว่าจะเดินทางด้วยรถยนต์หรือขนส่งสาธารณะก็ตาม เราจึงมุ่งมั่นที่จะเป็นพันธมิตรร่วมกับธนาคาร ร้านค้า และรัฐบาลในการขยายช่องทางการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย และใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การทำงานของเราจากทั่วโลกในการช่วยยกระดับประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสดและสนับสนุนเศรษฐกิจให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน” คุณสุริพงษ์ กล่าวปิดท้าย


[1] ผลสำรวจฉบับนี้ศึกษาเกี่ยวกับเทรนด์และพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักเดินทางจำนวน 17,500 ราย จาก 27ประเทศทั่วโลก

[2] http://content.tfl.gov.uk/contactless-top-line-figure.pdf

[3] ผลวิจัยที่วีซ่าจัดทำนี้ เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการชำระเงินในรูปแบบดิจิตอลใน 100 เมืองหลักทั่วโลก แหล่งที่มา: https://usa.visa.com/visa-everywhere/global-impact/cashless-cities.html