Luohan Academy รายงานเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลกับการเติบโตแบบทั่วถึง

Luohan Academy สถาบันวิจัย ที่ริเริ่มขึ้นโดย อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด (NYSE: BABA) ได้เปิดเผยรายงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัลกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ระหว่างการประชุมเศรษฐกิจโลกปี 2562 หรือ “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม” ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ นำเสนอแนวทางที่เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถนำไปสู่การเติบโตแบบทั่วถึงในแบบที่ไม่เคยทำได้ในอดีตหากได้รับการสนับสนุนจากนโยบายและภาครัฐ

การเปิดเผยการศึกษาดังกล่าวเกิดขึ้นในการประชุมที่ธนาคารโลกร่วมเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีการปาฐกถาและเวทีสนทนาของผู้เชี่ยวชาญระดับชั้นนำ เช่น สมเด็จพระราชินีแม็กซิมาแห่งเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนพิเศษด้านการเงินและการพัฒนาแบบทั่วถึงของสหประชาชาติ (UN Special Advocate for Inclusive Finance and Development) นางคริสตาลินา จอร์จีวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารโลก ศ.ไมเคิล สเปนซ์ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ นายแจ็คหม่า ประธานบริหาร อาลีบาบากรุ๊ป และนายเฉินหลง ผู้อำนวยการ Luohan Academy โดยมีผู้เข้าประชุมในเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม กว่า 100 คน เข้าร่วมรับฟัง

รายงานเรื่อง “เทคโนโลยีดิจิทัลและการเติบโตแบบทั่วถึง” เผยถึงประโยชน์ของการปฏิวัติด้านดิจิทัลในปัจจุบันที่สามารถกระจายความมั่งคั่งได้อย่างทั่วถึง มากกว่าการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีในอดีตเคยทำได้ โดยพบว่า ในระดับแมคโคร การกระจายตัวของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ไม่ขึ้นอยู่กับระดับรายได้และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ กรณีศึกษาคือ ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้มีรายได้ปานกลาง สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซและการชำระเงินทางมือถือได้ภายในระยะเวลาไม่ถึงทศวรรษ

อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของจีนนับว่าใหญ่ที่สุดในโลก ในปี 2561 มีสัดส่วนถึงร้อยละ 23 ของมูลค่าค้าปลีกโดยรวม เมื่อปี 2554 การชำระเงินทางโทรศัพท์มือถือของจีนมีมูลค่า 15,000ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ของอเมริกามีมูลค่า 8,300 ล้านเหรียญ แต่พอถึงปี 2560 การชำระเงินทางมือถือของจีนได้โตขึ้นกว่า 100 เท่าของอเมริกา มีมูลค่ากว่า 22 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ในระดับไมโคร เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างความสะดวกในการริเริ่มธุรกิจ การเข้าถึงลูกค้า และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่า ตัวอย่างที่เด่นชัดคือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างการเข้าถึงโอกาสด้านเศรษฐกิจในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต ระยะทางระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายบนแพลตฟอร์มของอาลีบาบามีระยะทางเฉลี่ยราว 1,000 กม. เทียบกับการค้าขายออฟไลน์แบบดั้งเดิมที่มักมีระยะทางห่างกันเพียงไม่กี่กิโลเมตร 

ในด้านของผู้ขาย กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ค้าออนไลน์ในจีนเป็นผู้หญิง ซึ่งต่างจากผู้ค้าแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ อีคอมเมิร์ซยังเอื้อประโยชน์แม้แต่ผู้ที่มีข้อบกพร่องทางกายภาพ ในปี 2559 ผู้ขายออนไลน์บนเถาเป่ากว่า 160,000 คน ซึ่งเป็นผู้มีความบกพร่องทางกายภาย สามารถสร้างยอดขายได้กว่า 12,400 ล้านหยวน

“สิ่งที่เกิดขึ้นในจีนและตลาดเกิดใหม่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพอันมหาศาลการของเติบโตในรูปแบบใหม่ รูปแบบที่จะทำให้การพัฒนามีความทั่วถึง เข้าถึงคนทุกระดับชั้นและทุกกลุ่ม และมีความยั่งยืน” นายเฉินหลง ผู้อำนวยการ Luohan Academy กล่าว “ด้วยความพยามของทั้งภาครัฐและเอกชน ผนวกกับนโยบายที่ถูกต้อง ยุคดิจิทัลจะสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศตลาดเกิดใหม่ ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

สิ่งที่เป็นจุดต่างและจุดเด่นคือ เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถแชร์กันใช้ได้โดยไม่ลดทอนคุณค่าและใช้ต้นทุนเพียงน้อยนิด อีกทั้งยังไม่ต้องอาศัยความสามารถและความรู้มากมายนักหากเทียบกับการปฏิวัติทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต

การศึกษาของสถาบันชี้ให้เห็นถึงจุดที่เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถสร้างความแตกต่างในการเติบโตแบบทั่วถึงในจีน และให้ข้อมูลเชิงลึกในการที่จะนำถอดความสำเร็จสู่ประเทศอื่นๆ ได้

ผลการศึกษามีประเด็นหลักๆ ดังนี้

ลดขีดขั้นในการใช้ทักษะ ในการที่สนับสนุนให้มีการใช้ดิจิทัลมากขึ้น การลดขีดขั้นในการใช้เทคโนโลยีสำคัญพอ ๆ กับการเสริมสร้างทักษะในการใช้เทคโนโลยีตัวอย่างเช่น คนในหมู่บ้านชนบทที่เข้าร่วมในโครงการ เถาเป่าชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่เข้าร่วมเป็นผู้ขายปลีกแบบอีคอมเมิร์ซ หรือ “e-tailer” (อี-เทลเลอร์)สามารถสร้างรายได้เกินเท่าตัวเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เป็นอี-เทลเลอร์ ไม่ว่าจะนับในกลุ่มผู้มีการศึกษาระดับใด เพราะทักษะในการใช้สร้างอาชีพผ่านอีคอมเมิร์ซนี้เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้จากการทำงาน ไม่ต้องอาศัยการศึกษาเล่าเรียนจากสถาบันการศึกษา

การยกระดับดิจิทัลแพลตฟอร์ม: ดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นรูปแบบใหม่ของการแลกเปลี่ยนและประสานงานกันเพื่อสร้าง  อีโคซิสเท็มสำหรับการเติบโตแบบทั่วถึง เปรียบเสมือนฟันเฟืองที่เชื่อมโยงผู้บริโภคและผู้ผลิตจำนวนมหาศาลเข้าไว้ด้วยกัน และช่วยสร้างความสะดวกในการติดต่อสื่อสารที่ใช้ต้นทุนต่ำ มีประสิทธิผลสูง และเชื่อถือได้

สร้างการร่วมมือที่ทรงประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน: ด้วยรูปแบบใหม่นี้ การสนับสนุนจากภาครัฐในการสร้างสิ่งแวดล้อมระดับแมคโครที่เอื้อต่อการเติบโตของภาคเอกชน ตลอดจนการด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับประชากรจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล นับเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา

การบริหารจัดการผลที่คาดไม่ถึง: ในยุคดิจิทัล เกิดความกังวลนานัปการและทวีความซับซ้อนกว่าที่เคยเป็นมา อาทิ ประเด็นความกังวลว่าจะมีคนตกงานเพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในทางที่ผิด ความล่าช้าของนโยบายที่มีผลต่อการแข่งขัน (lagging competition policy) และการเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียม ก้าวแรกของการศึกษาความท้าทายเหล่านี้คือการแยกข้อเท็จจริงออกจากการคาดเดาและความกังวล จากกรณีศึกษาประเทศจีนพบว่า ประโยชน์ในการเข้าถึงตลาดและโอกาสใหม่ๆ  จะเห็นได้ชัดกว่าในประเทศที่กำลังพัฒนาอื่น ๆ

“รายงานการศึกษาด้านรูปแบบการเติบโตด้วยการอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลในจีนนับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สถิติแสดงให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ตที่ใช้บนโทรศัพท์มือถือ อีคอมเมิร์ซ การชำระเงินทางโทรศัพท์มือถือ และบริการสินเชื่อผ่านอินเทอร์เน็ต ล้วนกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตโดยรวม และสร้างรูปแบบการเติบโตแบบทั่วถึงในหลากหลายมิติ” นายไมเคิล สเปนซ์ ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าว “เมื่อศึกษาประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เพิ่มเติม พบว่า เป็นไปได้ว่าระบบนิเวศหรืออีโคซิสเท็มที่ขับเคลื่อนโดยแพลตฟอร์มดิจิทัลจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตแบบใหม่ที่ทรงพลังยิ่ง”

Luohan Academy ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2561 ในเมืองหังโจว โดยเน้นศึกษาความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีผู้ได้รับรางวัลโนเบลกว่า 16 รายและนักวิชาการที่มีความโดดเด่นเข้าร่วมเป็นสมาชิกอยู่ในคณะกรรมาธิการ สถาบันฯ มีวัตถุประสงค์ในการที่จะนำนักวิชาการชั้นนำระดับโลกมาร่วมกันศึกษาประเด็นที่รุมเร้าด้านต่างๆ ของเศรษฐกิจดิจิทัล และสร้างงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและผลกระทบที่มีต่อมนุษยชาติ