เปิดวิชั่น! ‘กิตติกานต์’ ผอ.ขสมก. ป้ายแดง ประเดิมสำรวจเสียง ปชช.-พนักงาน เร่งแผนฟื้นฟูฯ-เคลียร์หนี้สะสม พร้อมผุดไอเดียพลิกโฉม ขสมก. อย่างยั่งยืน

เปิดวิชั่น! “กิตติกานต์ผอ.ขสมก.ป้ายแดงอายุน้อยที่สุด เดินหน้าสนอง 5 นโยบายศักดิ์สยามขับเคลื่อนองค์กรอย่างยั่งยืน จ่อดึงประสบการณ์ด้านระบบขนส่ง กทม. มาประยุกต์ใช้ ประเดิมบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ทันที ลั่นให้ความสำคัญเสียงประชาชนพนักงาน เปรียบดั่งครอบครัว ขสมก.” เร่งเครื่องแผนฟื้นฟู ขสมก. ให้แล้วเสร็จ เคลียร์หนี้สะสมกว่า 1.3 แสนล้าน ผุดไอเดียพลิกโฉม ขสมก. คาดแผนเสร็จภายในปีนี้ หวังเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 .. 2564 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เนื่องจากนายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ผอ.ขสมก. เมื่อวันที่ 1 .. 2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ นายกิตติกานต์ ในวัย 42 ปี ถือเป็น ผอ.ขสมก. คนแรกที่มีอายุน้อยที่สุด นับตั้งแต่วันสถาปนา ขสมก. ครบรอบ 45 ปี (ปี 2564)

นายกิตติกานต์ เปิดเผยในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ผอ.ขสมก. คนใหม่ว่า สำหรับแนวทางการขับเคลื่อน ขสมก. นั้น ตนจะดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาระบบขนส่ง ระยะ 20 ปี (2561-2580) ซึ่งมีกรอบแนวคิดหลักๆ 4 ข้อ คือ 1.การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ 2.การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3.การขนส่งที่เข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน และ 4.การใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการ รวมถึงให้สอดคล้องกับนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวมถึงนโยบายของคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก.ด้วย

*** สนอง 5 นโยบาย “ศักดิ์สยาม” ***

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ได้มอบนโยบาย 5 เรื่องในการขับเคลื่อน ขสมก. อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 1.คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก และต้องการให้ ขสมก. เดินหน้าพัฒนาการให้บริการให้มีประสิทธิภาพ สร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนเมื่อได้ใช้บริการของรถเมล์ ขสมก. 2.ยกระดับการให้บริการประชาชน ตามวิสัยทัศน์สะดวก ปลอดภัย ตรงต่อเวลา และราคาสมเหตุสมผลเนื่องจากรถเมล์ ขสมก. เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก

โดยถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีผู้โดยสารลดลงอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่จากการบริหารจัดการของภาครัฐในมาตรการต่างๆ และการระดมฉีดวัคซีน ส่งผลให้ประชาชนเริ่มมาใช้บริการมากขึ้น ดังนั้น ขสมก.จำเป็นต้องพิจารณาความถี่และจำนวนรถให้สัมพันธ์กับความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสาร โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน โดยหลังจากนี้จะนำระบบเทคโนโลยีมาใช้กับระบบตรวจสอบการปล่อยรถให้เหลือ 5 นาทีต่อคัน จากเดิมความถี่จะอยู่ที่ 8-12 นาทีต่อคัน

3.การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ อาทิ การนำระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Ticket) มาใช้, การติดตั้งตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติบริเวณสถานีรถโดยสารประจำทาง (ป้ายรถเมล์) ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อทำให้เกิดความสะดวกสำหรับผู้ใช้บริการ อีกทั้งยังสามารถดึงดูดให้ผู้โดยสารหันมาใช้บริการระบบสาธารณะมากขึ้น 4.มุ่งเน้นให้มีการพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้พลังงานสะอาด แลเป็นมิตรกับสิ่งแวดลิ้ม คือ รถพลังงานไฟฟ้า (EV) และรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV)

*** เร่งรัดแผนฟื้นฟู ขสมก. เต็มสูบ ***

และ 5.การเร่งรัดแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ที่ได้ดำเนินการไปแล้วระยะหนึ่ง โดยจะต้องผลักดันแผนฟื้นฟูฯ ดังกล่าวให้สำเร็จ เนื่องจากแผนพื้นฟู ขสมก. จะนำไปสู่การพัฒนาองค์กร และการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะอย่างยั่งยืนสำหรับความคืบหน้าแผนฟื้นฟู ขสมก. ในขณะนี้ อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมแก้ไขข้อสังเกตต่างๆ ให้ครอบคลุมรอบด้าน และสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า จะเร่งรัดดำเนินการผลักดันแผนฟื้นฟู ขสมก. ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อยกระดับการให้บริการและขับเคลื่อน ขสมก. อย่างยั่งยืน

นายกิตติกานต์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการแผนฟื้นฟู ขสมก. จะเดินหน้าตามแนวทาง 5 ลด 3S คือ 1.ลดปัญหาการจราจร โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบเส้นทางที่มีความทับซ้อนกัน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้โดยสารสามารถควบคุมเวลาในการเดินทางได้ 2.ลดมลภาวะ โดยการหันมาใช้พลังงานสะอาด 3.ลดปัญหาการขาดทุน โดยในปัจจุบัน ขสมก. มีหนี้สะสมกว่า 1.3 แสนล้านบาท  หลังจากนี้ ขสมก.ต้องกลับมาคิดว่า จะดำเนินการอย่างไร เพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย โดยจะต้องเร่งรัดจัดการหนี้สินให้หมด 4.ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และ 5.ลดภาระของภาครัฐ ไม่ต้องขอรับการสนับสนุนค่าบริการสาธารณะ (PSO) ต่อไปในอนาคต ส่วน 3S ได้แก่ 1.การเดินรถโครงข่ายเดียว (Single Network) 2.การกำหนดอัตราค่าโดยสารเดียว (Single Price) และ3.ระบบบริหารจัดการเดียว (Single Management)

ทั้งนี้ จากยุทธศาสตร์การคมนาคมขนส่ง และตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม รวมถึงสถานการณ์ในปัจจุบันนั้น ในอนาคตของ ขสมก. จะต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ กล่าวคือ จากระบบขนส่งมวลชนหลักสู่การเป็นระบบขนส่งมวลชนเสริมหรือขนาดรอง (Feeder) รวมถึงการเดินทางอย่างไร้รอยต่อล้อ ราง เรือโดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน เปรียบเสมือนรถเมล์ ขสมก. เป็นเส้นเลือดฝอยนำไปสู่สู่เส้นเลือดใหญ่ หรือระบบรถไฟฟ้าที่ได้เปิดให้บริการ และยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยจะครอบคลุมในปี2572-2574 ทั้งนี้ เพื่อให้ ขสมก. สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน

ในประเด็นการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายนั้น ประเด็นหลักๆ คือ ปัจจุบันเรามีรถที่วิ่งให้บริการจำนวน 2,868 คันเป็นรถนำมันเชื้อเพลิงดีเซล ประมาณ 2,000 กว่าคัน และมีรถเมล์ NGV ประมาณ 489 คัน มองว่าหากตัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงออกได้ จะเป็นผลดีกับ ขสมก. ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณ โดยเฉพาะต้นทุนในการซ่อมบำรุง เฉลี่ย1,000-1,200 คัน/วัน และปรับเปลี่ยนมาเป็นการเช่าวิ่งตามระยะทาง ซึ่งจะได้บริการสาธารณะที่มีคุณภาพไม่น้อยกว่าเดิม ช่วยลดรายจ่ายในการซ่อมบำรุง

นายกิตติกานต์ กล่าว

*** ประเดิมบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ ***

นายกิตติกานต์ กล่าวอีกว่า ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งเมื่อช่วงต้น .. 2564 ที่ผ่านมานั้น ตนจะเริ่มดำเนินการในสิ่งที่สามารถทำได้ก่อน โดยเฉพาะการบริหารจัดการภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ อาทิ รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์), พนักงาน และบุคลากรของ ขสมก. รวมถึงการให้บริการต่างๆ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ผ่านมา ขสมก.ได้รับเรื่องร้องเรียนในการให้บริการประชาชนค่อนข้างเยอะ ซึ่งหลังจากนี้ จะดำเนินการสำรวจความพึงพอใจ และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อนำคำแนะนำ หรือข้อมูล มาปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการนั้นๆ โดยในขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำแบบสำรวจเพื่อสอบถามความพึงพอใจของประชาชน คาดว่า แบบสำรวจจะแล้วเสร็จก่อนให้ประชาชนเสนอความพึงพอใจในช่วง .. 2564

ผมเข้ามาดำรงตำแหน่ง 4 ปี ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผมมองไว้ คือ อันไหนที่ทำได้ก่อนจะลงมือทำ โดยจะเริ่มต้นจากการบริหารจัดการภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จะบริหารอย่างไรให้องค์การเดินต่อไปได้ ซึ่งสิ่งแรก คือ จะต้องรู้จักว่าเรามีอะไรอยู่บ้างและสามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง โดยอันดับแรก คือ การบริหารสิ่งที่มีอยู่ เช่น เรามีรถให้บริการกี่คัน พนักงานกี่คน เราต้องศึกษาให้รอบด้าน เพื่อนำไปสู่แผนงานในการพัฒนาภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่นายกิตติกานต์ กล่าว

*** ฟังเสียง ปชช.-พนง. สู่ “ครอบครัว ขสมก. ***

นายกิตติกานต์ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจัยสำคัญที่จะสามารถขับเคลื่อนองค์กร ได้อย่างยั่งยืน คือ พนักงาน ขสมก. ดังนั้นจะต้องสร้างค่านิยม รวมถึงปลูกฝังวัฒนธรรม ขสมก.ใหม่ขึ้นมา ต่างๆ โดยมุ่งเน้นให้มีใจให้บริการกับประชาชนพร้อมทั้งให้พนักงาน ขสมก. ทุกคนมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ ทั้งการแสดงออก และแสดงความคิดเห็น เปรียบเสมือนว่าพนักงานทุกคน คือครอบครัว ขสมก.” ทั้งนี้ หลักการเบื้องต้นนั้น ควรดำเนินการพัฒนาการให้บริการด้วยการสร้างจิตสำนึกในการทำงาน ให้สอดคล้องกับฝ่ายบริหาร, บอร์ด ขสมก. และสหภาพฯ เพื่อให้แผนงานต่างๆ นำไปสู่การปฏิบัติงานที่แท้จริง

นอกจากนี้ จากนโยบายของกระทรวงคมนาคม และนายศักดิ์สยาม ในการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขต กทม. และปริมณฑล รวมทั้งการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ นั้น Bus lane นับเป็นหัวใจสำคัญในระบบขนส่งมวลชน เนื่องจากสามารถคุมเวลาในการเดินทางได้ เช่นเดียวกับการดำเนินการในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย เป็นต้น โดย Bus lane จึงถือเป็นนโยบายที่จะต้องวางแผน และพิจารณาเร่งดำเนินการ โดยหลังจากนี้ จะมีการพิจารณาเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีความเหมาะสม พร้อมทั้งคำนึงให้ไม่กระทบต่อประชาชนในการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงเหมาะสมต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน

*** ผุดไอเดียแก้จราจรเมืองกรุงฯ-ปริมณฑล ***

อีกทั้ง มีแนวคิดที่จะบูรณาการร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนาจุดจอดแล้วจร (Park and Ride) บริเวณคอมมูนิตี้มอลล์ จากนั้นมาเดินทางด้วยรถเมล์ ขสมก. ก่อนไปเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้า ซึ่งจะเพิ่มทางเลือกในการเดินทางของประชาชน ซึ่งภาคเอกชนก็จะได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ เบื้องต้นประเมินว่า จะนำร่องบริเวณโซนลำลูกกา เนื่องจากมีการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะที่หลากหลาย และผ่านชุมชนต่างๆ มากมาย ขณะเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้บริการรถเมล์ ขสมก. ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น ตนมีแนวคิดที่จะติดป้ายแจ้งประชาชนให้ทราบว่ารถเมล์ที่นำออกมาวิ่งให้บริการ ผ่านการดำเนินการตามมาตรการทางสาธารณสุขแล้ว รวมถึงติดป้ายระบุว่า พนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดครบ 2 เข็ม หรือกระตุ้นเข็มที่ 3 แล้ว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเรื่องความปลอดภัยของนายศักดิ์สยามด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่า แผนการดำเนินการทั้งหมดนั้น จะเห็นเป็นรูปธรรมภายในสิ้นปี 2564 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนชาวไทยด้วย

เมื่อผมตัดสินใจเข้ามารับตำแหน่งแล้ว ผมพร้อมทำงานมาก และจะนำประสบการณ์จากด้านระบบขนส่งและจราจรและด้านเทคโนโลยีจากที่เคยดำรงตำแหน่งที่ กทม. มาประยุกต์ใช้ในการพลิกโฉม ขสมก. และเพื่อให้ขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่ระบุว่า เป็นผู้นำการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง รองรับการให้บริการสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม และดึงจุดแข็งต่างๆ ที่มีออกมาใช้ศักยภาพให้มากที่สุด โดยผมตั้งสโลแกนไว้ว่า คิดรอบด้านให้มาก ทำให้ง่ายไม่ยุ่งยาก แต่เกิดประโยชน์สูงสุด

นายกิตติกานต์ กล่าวปิดท้าย