DITP รณรงค์ส่งเสริมสินค้าที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ได้กล่าวว่าเยอรมนีมีการผลิตและมีความต้องการใช้พลาสติกเป็นจำนวนมากโดยในปี 2016 ชาวเยอรมันทิ้งบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ อาทิเช่น อาหารสำเร็จรูปหรืออาหาร To-Go ยังก่อให้เกิดขยะพลาสติกเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ประเทศเยอรมนีมีการแยกขยะเป็นหลายประเภท เช่น ขยะกระดาษ ขยะเปียก ขยะพลาสติก ซึ่งขวดน้ำดื่มพลาสติกเป็นขยะที่ผู้ส่งออกและบริษัทผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสามารถนำไปจำหน่ายต่อหรือนำไปรีไซเคิลได้ คิดเป็นร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม ในประเทศเยอรมนียังมีขยะพลาสติกอีกร้อยละ 30 ที่ไม่ได้รีไซเคิลหรือถูกทิ้งลงลานขยะ

เมื่อวันที่ 1 ม.ค.62 ที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนี ได้ออกกฎหมายใหม่ที่ส่งผลให้บริษัทต่างๆ อุตสาหกรรม และผู้นำเข้าของเยอรมนีต้องเพิ่มโควตาอัตราการรีไซเคิลของขยะกระดาษ แก้ว เหล็ก โลหะ และอะลูมิเนียม จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 75 และในส่วนของขยะพลาสติก จากร้อยละ 36 เป็นร้อยละ 63 ซึ่งเป็นอัตราที่รัฐบาลเยอรมนีตั้งไว้ ตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปี 2022 โดยมีกฎหมายทั้งการลดค่าธรรมเนียมรีไซเคิล เพื่อให้ผู้ผลิตหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติหรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็จะได้รับการลดค่าธรรมเนียมการรีไซเคิลจากกฎหมายด้วย การขยายค่าคืนขวด เป็นกฎหมายที่ส่งผลต่อผู้บริโภคชาวเยอรมันโดยตรง

โดยเฉพาะผู้ที่ซื้อน้ำผลไม้และผลิตภัณฑ์นมวัวที่บรรจุในขวดพลาสติก เมื่อรับประทานเสร็จสามารถเอาขวดไปคืนยังสถานที่ที่กำหนด ก็จะได้รับค่าคืนขวด 0.25 ยูโรต่อขวดพลาสติก  และการทำสัญลักษณ์ใช้แล้วทิ้งบนเครื่องดื่มที่วางจำหน่ายอยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตในประเทศเยอรมนีจะต้องระบุสัญลักษณ์แยกประเภทระหว่างขวดพลาสติกใช้แล้วทิ้งกับขวดพลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำได้ เพื่อเป็นการแสดงให้ผู้บริโภครู้ถึงประเภทของขวดพลาสติกนั้น

 “นอกจากนี้ ทั้งผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า และอุตสาหกรรม ในประเทศเยอรมนีจำเป็นต้องลงทะเบียนบรรจุภัณฑ์ทุกชนิด ตามกฎหมายเพื่อส่งเสริมการลดขยะ พลาสติก การนำเข้าหรือจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ใด ๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากศูนย์ลงทะเบียนบรรจุภัณฑ์ จะโดนปรับไมเกิน 200,000 ยูโร” นางสาวปิตินันทน์ สมานวรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต กล่าว

ทางสำนักงานฯ เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการลดปริมาณขยะให้ลดลง จึงอยากเสนอแนะและเชิญชวนให้ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตไทยพิจารณาถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทพลาสติก ให้สามารถนำมารีไซเคิลได้หรือใช้แล้วทิ้ง เพื่อเป็นการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมและลดปริมาณขยะให้น้อยลงในประเทศ ทั้งยังช่วยทำให้ประชาชนสามารถแยกประเภทพลาสติกที่นำมาใช้ได้และไม่ได้ หากผู้ประกอบการหันมาผลิตสินค้าที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้มากขึ้นในการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะหากส่งออกไปยังประเทศเยอรมนีที่มีนโยบายสนับสนุนการใช้พลาสติกรีไซเคิลและพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง