เปิดมุมมอง! ทย. มอบ 3 สนามบินให้ ทอท.รับผิดชอบ ชี้เปลี่ยน ‘อธิบดี’ เริ่มนับหนึ่งงานนโยบายใหม่ เหตุให้เบิกจ่ายอืดสุดใน ‘คมนาคม’

วงในคมนาคมเปิดมุมมอง ทย. มอบ 3 สนามบินภูมิภาคให้ ทอท. บริหาร ชี้เป็นประโยชน์รัฐอยู่เฉยๆ ได้เงินเท่าเดิม” แต่ห่วงค่าโดยสารพุ่งสูงขึ้น สร้างภาระประชาชนเพิ่ม ลั่น! ดีลนี้ ทอท. เสียเปรียบ ตั้งความหวังลบภาพประวัติเสียเอื้อเอกชนสุวรรณภูมิเฟส 3” พร้อมเผยเปลี่ยนหัวอธิบดี ทย. เริ่มนับหนึ่งงานนโยบาย ชี้ต้องศึกษาใหม่ 3 เดือน เหตุให้เบิกจ่ายงบอืดสุดในกระทรวงฯ ระบุ 8 ปี เปลี่ยนเบอร์ 1 แล้ว 9 คน

ตามที่กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ขานรับนโยบายของรัฐบาล ในการกำหนดยุทธศาสตร์ท่าอากาศยานของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ด้วยการเสริมศักยภาพการบริหารจัดการ และใช้ทรัพยากรท่าอากาศยานของภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเตรียมมอบความรับผิดชอบการบริหารจัดการท่าอากาศยาน 3 ท่าอากาศยานให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. คือ ท่าอากาศยานอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์เพื่อเพิ่มปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารทั้งต่างประเทศและในประเทศ รวมถึงการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบินได้อย่างคล่องตัวนั้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากประเด็นดังกล่าว มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดถึงมอบสนามบินทำกำไรให้กับ ทอท. ไปบริหารจัดการ ซึ่งในเรื่องดังกล่าว เมื่อมาพิจารณาเงื่อนไขหลักเกณฑ์พบว่า ประโยชน์จะตกเป็นฝ่ายของ ทย. เนื่องจาก ทย. จะได้รับการชดเชยรายได้ในการกำกับดูแลสนามบินจาก ทอท. เช่นเดียวกับตอนบริหารจัดการเอง อีกทั้ง ตามหลักทฤษฎีการบริหารงานนั้น สนามบินที่สร้างกำไร ทย. ไม่ควรกำกับดูแลเอง เพราะหากมอบความรับผิดชอบให้กับ ทอท. คาดว่า จะสามารถสร้างกำไรได้มากกว่า ส่วนสนามบินที่ขาดทุน ทย.ควรกำกับดูแลเอง เพราะมีงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อประโยชน์ของประชาชน

ทั้งนี้ ยกตัวอย่างในปี 2562 สนามบินกระบี่ มีรายได้ประมาณ 550 ล้านบาท กำไร 370 ล้านบาท, สนามบินอุดรธานี มีรายได้ 130 ล้านบาท กำไร 30 ล้านบาท และสนามบินบุรีรัมย์ มีรายได้ 17 ล้านบาท ขาดทุน 11 ล้านบาท เมื่อรวมผลการดำเนินงานทั้ง 3 สนามบินแล้ว ทย. จะมีรายได้ 389 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นวงเงินที่ ทอท. จะต้องชดเชยรายได้ให้กับทย. โดยหลังจากนี้ ทย. จะคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในแต่ละปีในอนาคต เพื่อคำนวณรายได้ที่ ทย. จะได้รับต่อไปซึ่งคาดว่า รายได้ที่ ทย. จะได้รับ จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการประมาณการณ์ของผู้โดยสาร

แต่เมื่อมาพิจารณาดีๆ หากมองในมิติทางการเงิน ถือเป็นเรื่องดี เพราะเปรียบเหมือน ทย. อยู่เฉยๆ ก็ได้รายได้เหมือนเดิม แล้วยังสามารถนำบุคลากรไปพัฒนาสนามบินอื่นที่ขาดแคลนพนักงานได้ แต่ในมิติภาพลักษณ์ มองว่า อาจมีปัญหา เพราะตัวองค์กร ทอท. ถึงแม้คนจะมองว่า ถ้าให้มาบริหารสนามบินคงจะดีขึ้น แต่ถ้ามองลึกลงไปดี ทอท. ยังมีการบริหารจัดการที่มีปัญหา เห็นได้จาก ปมการถูกติงว่าเอื้อบริษัทเอกชนในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมถึงข้อคำถามในโครงการพัฒนาสุวรรณภูมิเฟส 3 หรือเรียกง่ายๆ มีประวัติไม่ค่อยดี และคาดว่าจะทำแบบเดิมแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าว

และกล่าวอย่างไรก็ตาม คาดหวังว่า การมอบความรับผิดชอบในครั้งนี้ ทย.ในฐานะหน่วยงานรัฐ จะต้องมีมาตรการในการดูแล ต้องมีไม้เรียว หาก ทอท.บริหารไม่ดี ควรจะต้องมีการคาดโทษ หรือปรับ เพื่อให้กลับมาเป็นคนดี นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา การพัฒนาสนามบินแม่ฟ้าหลวง .เชียงราย ที่รับโอนไปตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งตอนนี้กระเบื้องที่ปูไว้ ยังเป็นแผ่นเดิมอยู่เลย

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าจับตามองหลังจากนี้ คือ 3 สนามบินที่ ทย. มอบให้ ทอท.รับผิดชอบ คือ กระบี่, อุดรธานี และบุรีรัมย์ อาจจะส่งผลให้ค่าตั๋วโดยสารเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้โดยสารหรือประชาชน เนื่องจาก ทอท. มีการจัดเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) สูงกว่า ทย. แบ่งเป็น เส้นทางภายในประเทศ ทอท.จัดเก็บค่า PSC ราคา 100 บาทต่อคน ส่วน ทย. จัดเก็บอยู่ที่ 50 บาทต่อคน ขณะที่เส้นทางระหว่างประเทศ ทอท.จัดเก็บค่า PSC ราคา 700 บาทต่อคน ส่วน ทย. จัดเก็บอยู่ที่ 400 บาทต่อคน ทั้งนี้ เป็นที่แน่นอนว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางสายการบินอาจจะไม่ได้ปรับลดราคาลง และจะต้องจัดเก็บจ่ายให้กับ ทอท.

ดีลในครั้งนี้ มองว่า ทอท. เสียเปรียบ ซึ่งแตกต่างจากเงื่อนไขครั้งก่อนหน้านี้ ที่ ทย.โอนสนามบินให้เลย แต่ครั้งนี้มอบแค่ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการ โดยผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุด คือ ภาครัฐ หรือประเทศชาติ เนื่องจาก ทอท. จะต้องนำส่งเงินให้รัฐ 2 ก้อน แบ่งเป็น ก้อนแรกชดเชยรายได้ให้ ทย. และก้อนที่ 2 คือ ส่วนแบ่งรายได้หรือกำไรจากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้กับกรมธนารักษ์ ในฐานะเจ้าของสัญญาเช่าพื้นที่ของสนามบินแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าว

ส่วนการโยกย้ายตำแหน่งอธิบดี ทย. โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 .. 2564 ที่ผ่านมา มีมติแต่งตั้งนายปริญญา แสงสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี ทย. แทนนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อยอธิบดี ทย. ที่แต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) แทนนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดี ทช. ที่โยกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมนั้น แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การโยกย้ายในครั้งนี้ เหมือนการเริ่มนับ 1 การทำงานด้านนโยบายของ ทย. เนื่องจากนายปริญญา ถือเป็นบุคคลนอกหน่วยงานหรือข้ามห้วยมาจาก ทล. ทำให้ต้องใช้เวลาศึกษางานต่างๆ อย่างน้อยประมาณ 3 เดือน ก่อนที่จะเข้าใจและขับเคลื่อนงานต่างๆ ออกไปได้

ทั้งนี้ ทย. ถือเป็นหน่วยงานเดียวในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่ในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2557 มีการเปลี่ยนอธิบดี ทย. มาแล้วรวมครั้งล่าสุดนี้ จำนวน 9 คน ซึ่งหากคิดค่าเฉลี่ยแล้ว เมื่อรวมระยะเวลาการศึกษางานของแต่ละท่าน ท่านละ 3 เดือน ทำให้เหลือเวลาการขับเคลื่อนงานนโยบายเพียง 4-5 ปีเท่านั้น เนื่องจากเมื่อมีการเปลี่ยนอธิบดีแล้ว เป็นที่แน่นอนว่า นโยบาย หรือโครงสร้างต่างๆ จะต้องเปลี่ยนตามไปด้วย โดยถือปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้ ทย. เป็นหน่วยงานส่วนราชการที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณได้ล่าช้าที่สุด ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 นั้น ทย. เบิกจ่ายได้เพียง66.64% หรือวงเงิน 3,784 ล้านบาท จากที่ได้รับการจัดสรรวงเงิน 5,678 ล้านบาท

การเปลี่ยนหัวบ่อยๆ แบบนี้ ถามหน่อยว่า จะขับเคลื่อนอย่างไร เพราะส่วนใหญ่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งอธิบดี ทย. จะมาจากหน่วยงานอื่นทั้งสิ้น คือ งานในส่วนราชการก็เดินไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง แต่งานนโยบายจะเดินไปข้างหน้าได้ยาก เพราะการตัดสินใจจะช้า โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งหากไม่ได้อยู่ตั้งแต่แรก พอเข้ามาตอนนี้ ถึงแม้โครงการจะคืบหน้าในระดับหนึ่ง แต่เชื่อว่า จะยังไม่กล้าตัดสินใจ เนื่องจากจะต้องมาศึกษาทีโออาร์ใหม่ มีความเป็นมายังไง หรือเรียกง่ายๆ หัวเปลี่ยน นโยบายเปลี่ยน คนร่วมงานก็ต้องเปลี่ยนแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าว