ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเสริมแกร่งด้วยการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี เตรียมพร้อมรับมือการกลับมาท่องเที่ยว

เมื่อโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว การที่เจ้าของธุรกิจจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งต้องอาศัยการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมไปถึงการต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลให้มากขึ้นในยุคที่ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับมาให้บริการได้อย่างอย่างเต็มรูปแบบ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้เดินหน้าฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ดำเนิน “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวยุคดิจิทัล” พร้อมจัดงาน “Empowering Tech Tourism week Virtual Event” งานอีเว้นน์ออนไลน์เพื่อการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้พัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการท่องเที่ยว ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 -15 กันยายน 64 และในช่วงเสวนา การเตรียมความพร้อมของธุรกิจกับการกลับมาของการท่องเที่ยว โดย คุณกิตติ พรศิวะกิจ ประธานอนุกรรมการ Smart Tourism สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โควิด-19 เป็นคลื่นพายุที่ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวเจอกับผลกระทบครั้งใหญ่ ผู้ประกอบการต้องปรับตัว และเตรียมความพร้อม โดยเน้นการบริหารทั้งด้านบุคลากร ด้านเงินทุน ด้านวัสดุอุปกรณ์ รวมถึงการบริหารจัดการ ด้วยการ Up-skill และ Re-skill เพราะรูปแบบการท่องเที่ยวต่อจากนี้จะเปลี่ยนไปแน่นอน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเจาะลึก และออกแบบว่าอะไรที่เป็นความต้องการของนักท่องเที่ยวในยุคใหม่ เพื่อสร้างโปรดักส์ให้ตอบโจทย์ และนำข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ไปใช้กับสื่อดิจิทัล และนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อสื่อสารกับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น

สำหรับการเสวนาในช่วง แนวทางการช่วยผู้ประกอบการของกลุ่มธนาคาร คุณธวัช ตรีวรรณกุล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนัก ผู้ประกอบการต้องปรับตัวหลายด้าน รวมถึงต้องใช้นวัตกรรมต่าง ๆ มาช่วย แน่นอนว่าจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินทุน เราสนับสนุนด้วยการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น มาตรการช่วยลูกค้าธุรกิจ และรายย่อย ซึ่งมีทั้งการปรับเงื่อนไขชำระหนี้ หรือการให้สินเชื่อง่ายขึ้น รวมถึงพักชำระหนี้ รักษาสภาพคล่องให้เจ้าของกิจการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีจุดประสงค์คือช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ครอบคลุมมากขึ้น ขณะที่ คุณชาตรี เวทสรณสุธี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เสียงสะท้อนที่เข้ามาจากเจ้าของกิจการท่องเที่ยว คือมีความกังวลว่าธุรกิจจะต้องปิดตัวเพราะโควิด-19 รุนแรง แน่นอนว่าต้องเจอกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน เราก็ต้องมีการคิดว่าจะมีมาตรการใดช่วยเหลือได้บ้าง โดยมาตรการที่ได้ช่วยเหลือทางด้านการเงินหลัก ๆ คือ พัก เติม เสริมแกร่ง ที่จะช่วยประคับประคองธุรกิจ รวมไปถึงการสนับสนุนให้ใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาเสริมกิจการให้แข็งแกร่งมากขึ้น

และในช่วงสุดท้ายของงานกับการเสวนาในหัวข้อ มุมมองของนักลงทุนกับบริษัทนวัตกรรม ได้รับเกียรติจากหน่วยงานการลงทุนชั้นนำร่วมแชร์ความคิดเห็นที่น่าสนใจ โดย คุณศรัณย์ สุตันติวรคุณ นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน บริษัท เอ็น-เวสต์ เวนเจอร์ จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีมีไว้เพื่อเสริมธุรกิจ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือภาพใหญ่ของธุรกิจนั้นเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยในบางส่วน อย่างการปรับโมเดลธุรกิจ และนำเทคโนโลยีมาซับพอร์ต เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการใกล้ชิดของคน คุณกฤษณ์ พันธ์รัตนมาลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้แผนการลงทุนต่าง ๆ ล่าช้าเพราะไม่สามารถพบปะกันได้เหมือนเดิม เราต้องอาศัยนวัตกรรมเข้ามาช่วย ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาอยู่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมมากขึ้น และอาจพัฒนาไปถึงขั้นนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพาผู้สูงอายุไปท่องเที่ยวเพื่อสร้างประสบการณ์เสมือนจริง เหล่านี้จะช่วยให้มุมมองของการท่องเที่ยวกว้างขึ้น

คุณโอฬาร วีระนนท์ CEO & Co-founder, DURIAN และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสว. กล่าวว่า ผมจะเลือกลงทุนในบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และบริษัทใดก็ตามใช้เทคโนโลยีในการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการจองตั๋ว การจองทัวร์ ถือว่าเป็น Travel Tech และการลงทุนนั้น ผมจะร่วมทุนตั้งแต่เริ่มต้น และปิดท้ายที่ คุณทศรรห์ บุรีชนะ Chief Value Officer บริษัท สินวัฒนา คราวด์ฟันดิง คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “บริษัทที่จะเข้ามาระดมทุนในช่วงนี้ต้องพ่วงคำว่า เทคโนโลยี เพื่อดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ และถ้าหาก Travel Tech ได้เพิ่มส่วนของ Wellness เข้าไปด้วยก็จะทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้น