‘โลจิสติกส์ปี 62’แข่งเดือด!! รายเล็กวิกฤติ แนะทางรอด‘รวมกันเราอยู่’

ธุรกิจโลจิสติกส์ปี 2562 ถือว่าเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทยอย่างยิ่ง ในยุคที่ถูกรายใหญ่กินรวบ ถ้าไม่ปรับตัวผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางอยู่ยากแน่นอน แต่ลำพังแค่แรงของผู้ประกอบการเองก็หืดขึ้นคอที่จะสู้กับการแข่งขันที่รุนแรงได้ จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยง นั่นคือภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุน

ในฐานะที่ทำในแวดวงโลจิสติกส์มากกว่า 30 ปี นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนท คอร์ปอเรชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ อีบีซีไอ สะท้อนมุมมองโลจิสติกส์ไทยภาพรวมปี 2562 ในส่วนโลจิสติกส์ที่เกี่ยวกับระบบในประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ในส่วนของโลจิสติกส์ระดับประเทศ ยังคงให้คะแนนรัฐบาล คสช. ซึ่งยอมรับว่าเป็นรัฐบาลเดียวที่ให้ความสำคัญกับระบบโลจิสติกส์อย่างจริงจัง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ รัฐบาลชุดปัจจุบันได้มุ่งเน้นเกี่ยวกับการขนส่งทางราง เป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่การลงทุนที่ 1.3 ล้านล้านบาท ในเรื่องเกี่ยวกับระบบราง ซึ่งตนเองมองว่าควรจะครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และเชื่อมโยงกับต่างจังหวัดและอาจครอบคลุมระบบรางที่ไปอยู่ในพื้นที่ EEC ถ้ามองระบบรางถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นระบบการขนส่งที่ต้นทุนต่ำกว่าทางถนน แต่ก็สูงกว่าทางน้ำ

ทั้งนี้ ถ้ามองภาพให้ดี ในช่วงที่มีรัฐบาลชุดนี้ปกครองประเทศมานาน 4 ปี การลงทุนส่วนใหญ่ของโลจิสติกส์จะเน้นไปทางด้านระบบราง ซึ่งก็ดี แต่จะดียิ่งขึ้นถ้ามีการบูรณการระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับด้านโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตร ร่วมหารือและวางแผนยุทธศาสตร์ โลจิสติกส์ของประเทศไทย

แม้ว่าสภาพัฒน์ได้วางแผนยุทธ์ชาติ 20 ปี ทาง ด้านโลจิสติกส์ไว้แล้วในแง่ของนโยบาย แต่ในภาคปฎิบัติ ตนเองอยากเห็นว่า แต่ละกระทรวงจะต้องมาบูรณาการ กันไม่ใช่กระทรวงคมนาคม ดำเนินการด้านโลจิสติกส์เพียงกระทรวงเดียว เพราะว่าระบบโลจิสติกส์ในภาพรวม ต้องรวมเข้าด้วยกัน ซึ่งต้องมีทั้งเชื่อมต่อระหว่างการขนส่งทางถนน การขนส่งทางรถไฟ การขนส่งทางอากาศ และการขนส่งทางน้ำ รวมถึงการขนส่งเชื่อมชายแดน ซึ่งตนเองอยากจะเห็นการวางระบบโลจิสติกส์แบบบูรณาการเช่นนี้ ซึ่งอาจจะมีคำตอบว่า ตอนนี้ก็ทำอยู่แล้ว โดยที่เชื่อมโยงจากรางก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูก

ไม่เพียงแต่ระบบโลจิสติกส์ในประเทศเท่านั้นที่ต้องบูรณาการ แต่การเชื่อมโลจิสติกส์กับประเทศเพื่อนบ้านก็สำคัญไม่เเพ้กัน ซึ่งเรื่องนี้ นายสายัณห์สะท้อนว่า ในส่วนของระบบโลจิสติกส์ของประเทศเพื่อนบ้านของไทย ตอนนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังโปรโมท CLMV คือ กัมพูชา
เมียนมา ลาว เวียดนาม และประเทศไทย ถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะอาเซียนเน้นเรื่อง คอนเนคทิวิตี้ คือ เล่นเรื่องการเชื่อมโยงอยู่แล้ว แต่ถ้าดูให้ดีพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศไทย เช่น ฝั่งเมียวดีของเมียนมาฝั่งท่าแขก ตรงข้ามกับนครพนม สังเกตุดูว่าโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของบางประเทศนั้น ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับไทยได้สนิท ไทยเองอาจจะได้เปรียบ ดังนั้น ถ้ารัฐบาลจะมองในแง่ที่ว่าจะไปจับมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการเสริมสร้างศักยภาพด้านโลจิสติกส์เข้าด้วยกัน มันจะทำให้สินค้าจากไทยไหลเข้าไปตามประเทศนั้นๆ ได้เป็นจำนวนมาก แต่ในทางกลับกัน สินค้าของประเทศเพื่อนบ้าน สามารถที่จะไหลเข้ามาในไทยจำนวนมากเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ถ้าหากเราสามารถทำระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงระหว่างจังหวัดชายแดน และเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการเชื่อมโยงกับ EEC ได้ มันก็จะทำให้สินค้าที่ผลิตในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม สามารถขนส่งด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ แล้วก็เป็นการส่งเสริมการส่งออก การค้าชายแดนที่เพิ่มมากขึ้น ในปี 1-2 ที่ผ่านมา การค้าชายแดนมีมูลค้าเกือบ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม อีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อยากให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสนใจเกี่ยวกับโลจิสติกส์ ซึ่งไทยมีผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ SME มากกว่า 1 แสนบริษัท ซึ่งมีจำนวนพนักงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ 10-100 คน และทั้งระบบมีมากหลายแสนคน แต่ปัจจุบันด้วยการหลังไหลจากทุน ต่างชาติเข้ามาทั้งเทคโนโลยี และเงินลงทุน ทำให้เกิดระบบการผูกขาดของระบบโลจิสติกส์ โดยบริษัทต่างชาติ และบริษัทยักษ์ใหญ่ในไทย ซึ่งมีมากกว่า 100 บริษัท สำหรับบริษัทใหญ่ของไทย และบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยจะมีจำนวนมากกว่านั้น ซึ่งบริษัทต่างๆ เหล่านี้ ในบางประเทศ ยังได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลของเขาเองว่า ถ้ามาลงทุนโลจิสติกส์ในต่างประเทศ

บริษัทเหล่านั้นจะได้รับเงินกู้ ในอัตราดอกเบี้ยถูกและได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลในทุกด้านซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ บริษัทขนาดเล็กของไทย อาทิ รถบรรทุก คลังสินค้าขนาดเล็ก รวมไปถึงบริษัท เฟรทฟอร์เวิร์ดเดอร์ ขนาดเล็ก บริษัทสินค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงบริษัทขนส่งในประเทศ และบริษัทชิปปิ้ง ทั้งหลายจะเจอปัญหาว่า จะสู้กับบริษัทขนาดใหญ่ไม่ได้ ซึ่งบริษัทขนาดเล็กเหล่านี้ อาจต้องตายไป หรือเข้าไปเป็น outsource ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ ท้ายที่สุดบริษัทโลจิสติกส์ก็จะเข้าไปอยู่ในการควบคุมของบริษัทใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งทำให้เกิดผลที่ตามมา คือ สามารถกำหนดด้านราคาค่าขนส่งได้หมด เช่น ปัจจุบัน เรือขนส่งสินค้าของไทยไปต่างประเทศเป็นเรือต่างชาติ มากกว่า 50% เพราะฉะนั้น บริษัทต่างๆ เหล่านี้จะปรับค่าบริการ ราคาขนส่ง เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเขาควบคุมกลไกด้านการตลาด การบริหาร ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ อยากเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การส่งเสริม สนับสนุน SME ในระบบโลจิสติกส์

นายสายัณห์ เสนอแนะมาตการช่วยเหลือว่ามีหลายด้านได้แก่ 1.ให้ความช่วยเหลือ ด้านเงินทุนดอกเบี้ยราคาถูก 2.ให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี ซึ่งตนเองยังไม่เห็นรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาให้บริษัทโลจิสติกส์ขนาดเล็กใช้ที่ผ่านมาต้องไปซื้อโปรแกรมมาใช้เอง

ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ แต่บริษัทใหญ่เหล่านี้เข้ามาพร้อมกับการได้รับการยกเว้นภาษีอาการนำเข้า ภาษีเครื่องจักร ในขณะที่บริษัทขนาดเล็กจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลเลย

และอีกเรื่องที่อยากจะย้ำ คือ บริษัทโลจิสติกส์เล็กๆ ในประเทศไทย ซึ่งมีหลายบริษัทตนอยากเห็นบริษัทเหล่านี้ รวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อรองรับการต่อสู่ อิทธิพลจากเทคโนโลยีและเงินทุนได้ โดยที่น่าจะเป็น 4-5 บริษัทมารวมตัวกัน ซึ่งเรื่องนี้ บริษัทโลจิสติกส์ SME ไทยยังไม่ได้ตระหนักถึงภัยคุกคามเหล่านี้ ถ้าบริษัทโลจิสติกส์เหล่านี้รวมตัวกัน และแบ่งงานกันทำเป็น Divison of Work คือ ใครถนัดด้านไหนก็นำด้านนั้นไปทำ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสร้างบริษัทร่วมกัน แค่เอาส่วนของแต่ละองค์กรที่เป็นจุดเด่นของตัวเองมาวางไว้แล้วจากนั้นแบ่งงานและรายได้กัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ บริษัทโลจิสติกส์เล็กๆ ต้องคิดและทำ ไม่อย่างนั้นแล้วถ้าต่างคนต่างอยู่ ก็จะต้องตายจากกันไป หรือไม่เช่นนั้น บริษัทขนาดเล็กจะต้องไปเป็น outsource ให้กับบริษัทใหญ่ แล้วประเทศชาติจะอยู่ได้อย่างไร

นี่คือเสียงสะท้อนจากกูรูโลจิสติกส์ ถึงเวลาสังคายนาโลจิสติกส์ไทยหรือยัง?