ศึกการตลาดเอเชียปี 62 กับ 9 แนวโน้มที่น่าจับตา

สหพันธ์การตลาดแห่งเอเชีย Asia Marketing Federation (AMF) และสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จัดทำรายงานพิเศษหัวข้อ“ 9 แนวโน้มการตลาดแห่งเอเชียที่น่าจับตามองในปี 2562” เพื่อจับความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของการตลาดในภูมิภาค ซึ่งจะนำมายังประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจเศรษฐกิจและสังคมในประเทศสมาชิก อันประกอบด้วย ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ ไต้หวัน มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย พม่า กัมพูชา เวียดนาม ศรีลังกา และบังคลาเทศ

1.Fintech นวัตกรรมด้านการเงิน

จุดกระแสความเปลี่ยนแปลงให้ธนาคารต่างๆเริ่มปรับตัว ก้าวข้ามขีดจำกัดแบบเดิมๆ เมื่อผู้บริโภคก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลเต็มรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินของบุคคลทั่วไปได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และช่องทางก็เพิ่มมากขึ้น ธนาคารพาณิชย์จึงมีการปรับตัวเพื่อตอบรับความต้องการหลายด้าน อาทิ ด้านการให้บริการต่างๆ รวมถึงแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ที่คล่องตัวและตรงความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และธนาคารเริ่มกล้าที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดแบบเดิมๆ และหันมามองนวัตกรรมใหม่ๆที่จะเอื้อประโยชน์กับผู้บริโภค และเริ่มใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่มหาศาล (Big data) โดยมีการวิเคราะห์เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์และเกิดความแม่นยำมากขึ้น เช่น การประเมินเครดิตลูกค้ารูปแบบใหม่ ผ่านการวิเคราะห์การใช้จ่ายของพวกเขามากกว่าการตรวจสุขภาพการเงินแบบเดิมๆในมุมของโลกค้าปลีก นวัตกรรมทางการเงินและแพลตฟอร์มใหม่ๆช่วยให้เราก้าวสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการชำระเงินผ่านบัญชีที่เชื่อมต่อกับ mobile banking,การชำระผ่านบัตร, หรือการชำระผ่านe-wallets ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่คล่องตัวและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

2.OMNI Channel การเชื่อมต่อทุกช่องทางการขายคืออนาคตของค้าปลีก

ในโลกที่ประสบการณ์ที่ตอบโจทย์โดนใจลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ การขายผ่านช่องทางเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป ในปีที่ผ่านมาเราจะได้ยินคำว่า“การเชื่อมต่อทุกช่องทางการขาย – OMNI Channel” และ “โลกใหม่ของการค้าปลีก – New Retail” อยู่บ่อยครั้ง และจะเห็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทั่วทุกภูมิภาคผู้เล่นรายใหญ่ในโลกค้าปลีกแบบออนไลน์ เริ่มให้ความสำคัญกับร้านค้าออฟไลน์ และเริ่มขยายสู่โลกของ“การเชื่อมต่อทุกช่องทางการขาย – OMNI Channel”มากขึ้น เพื่อเชื่อมต่อประสบการณ์การช็อปปิ้งออนไลน์เข้ากับออฟไลน์อย่างไร้รอยต่อ และนี่ก็ส่งผลให้ผู้ค้าปลีกที่เคยใช้ช่องทางการขายแค่ในห้างร้าน เริ่มให้ความสำคัญกับ OMNI ChannelMarketing มากขึ้น ผู้ค้าปลีกแบบดั้งเดิมจำนวนมาก ก็เริ่มที่จะพัฒนากลยุทธ์ใหม่ ที่รวมทุกช่องทางการขายเป็นการเดินทางหนึ่งเดียว เพื่อให้ลูกค้าได้เพลิดเพลินกับประสบการณ์การช็อปปิ้งที่ลื่นไหลและเชื่อมต่อประสบการณ์ทุกช่องทางได้อย่างสะดวกสบาย ตั้งแต่การไปเลือกซื้อที่ร้านค้า ได้เห็น ได้ลองเลือก สัมผัสสินค้าจริง และหากสนใจซื้อ ลูกค้าก็สามารถเช็คเกี่ยวกับสี / ขนาด / สต็อกที่มีให้เลือกจนถึงการกดสั่งซื้อและระบุการจัดส่งผ่านช่องทางออนไลน์ขณะที่ยังอยู่ที่ร้านได้ทันที

3.การเติบโตของธุรกิจชำระเงินแบบดิจิตอล และความเปลี่ยนแปลงในโลกทางการเงินแบบดั้งเดิม

ด้วยการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในโลกอีคอมเมิร์ซและความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินบนมือถือ ทำให้การชำระเงินแบบดิจิตอลเป็นช่องทางการจ่ายเงินที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ และนี่ก็เป็นโอกาสของอุตสาหกรรมการให้บริการทางการเงิน ที่จะปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องไปตามพฤติกรรมของผู้ใช้งาน และ สถาบันทางการเงินต่างๆได้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

วันนี้การชำระเงินแบบดิจิตอลได้ก้าวสู่บทบาทใหม่ จากที่เคยเป็นแค่เครื่องมือในการจ่ายเงิน สู่การเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสำหรับสินเชื่อพิเศษขนาดเล็ก และใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ด้านการจับจ่ายของลูกค้ามาเป็นตัวประเมินความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้กู้ เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ให้กู้ และการเติบโตของโลกการเงินดิจิตอลในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจแบบเดิมๆ อาทิ ธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตรา และ ร้านค้าปลีกรายย่อยที่รับเฉพาะเงินสด ในโลกยุคดิจิตอล เราจะเริ่มเห็นการเกิดขึ้นของธุรกิจแลกเปลี่ยนสกุลเงินข้ามภูมิภาคแบบดิจิตอล ที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนจากกลไกตลาด ซึ่งมีอัตราผันผวนแบบ real time แทนอัตราแลกเปลี่ยนจากหน่วยงานการเงินระดับภูมิภาคแบบเดิมๆ

  1. การใช้งานที่เพิ่มขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)และการพัฒนาไปเป็นความอัจฉริยะแบบลูกผสม (Hybrid Intelligence หรือ HyIntelligence)

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI)นั้นเป็นเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการช่วยให้องค์กรต่างๆสามารถมีปฎิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ในระดับบุคคล  เพราะเครื่องมือ AI สามารถช่วยรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลของลูกค้าเข้าด้วยกัน พร้อมวิเคราะห์เพื่อนำผลลัพธ์มาปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าและสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งผ่านการตลาดเชิงประสบการณ์ (Experiential marketing)

ในปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ ความอัจฉริยะของมนุษย์ (HI) มักจะถูกนำมาใช้เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เพราะการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ นั้นขึ้นกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่  (Big Data) ที่ถูกป้อนเข้ามาโดยความอัจฉริยะของมนุษย์ เพื่อคาดการณ์และดำเนินการงานตามคำสั่ง เช่นในกรณีของโปรแกรมตอบกลับอัตโนมัติแบบแชทบอท (Chatbot) และสิริ (SIRI) ความอัจฉริยะแบบลูกผสม (Hybrid Intelligence) หรือที่เรียกแบบย่อว่าHyIntelligenceเป็นความชาญฉลาดในระดับสูงขึ้นของสมองกล ที่ผสานการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความอัจฉริยะของมนุษย์ (HI) ในระดับเซลล์ประสาทสั่งการ สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของมนุษย์อย่างมาก ตัวอย่างเช่น การฝังแผ่นชิพปัญญาประดิษฐ์ขนาดเล็กระดับนาโน (AI Nanochip) ในมนุษย์ที่ช่วยให้เข้าใจการทำงานของระบบประสาท เพื่อลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งทางวาจาและร่างกาย  เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) เหล่านี้จะยังคงถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้ บริษัทต่างๆสามารถสร้างความผูกพันกับลูกค้าในระดับบุคคล ไม่เพียงเฉพาะกับจำนวนลูกค้าในกลุ่มที่ใหญ่มากขึ้นเท่านั้น แต่ในความถี่ที่สูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามการนำเทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้นนี้มาใช้อย่างแพร่หลาย ควรคำนึงถึงความประเด็นความเหมาะสมทางด้านมนุษย์และจริยธรรมด้วยเช่นกัน

5.เทรนด์ใหม่ของ “ผู้ประกอบการภายใน –Intrapreneur ทางออกแบบ Win – Win ในโลกธุรกิจยุคใหม่

ในยุคที่ใครๆก็อยากเป็นเจ้าของกิจการ พนักงานและผู้บริหารจากองค์กรต่างๆที่มีความสามารถสูง เริ่มลาออกเพื่อไปตามความฝันในการเริ่มต้นกิจการของตัวเอง ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ คือ องค์กรก็ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ส่วนผู้ที่ลาออกไปเริ่มต้นกิจการ ก็ไม่ใช่จะประสบความสำเร็จเสมอไป จะเห็นได้จากจำนวนบริษัทสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก และส่วนใหญ่ พวกเขามักมีปัญหาในการขยายธุรกิจ หรือ scale up

เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ องค์กรหลายๆแห่งเริ่มส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาตัวเองเป็น “ผู้ประกอบการภายใน หรือIntrapreneur”ที่มีความพร้อมและเต็มใจที่จะปฏิบัติงาน เสมือนตนเป็นเจ้าของกิจการ อย่างเต็มที่ เขาเหล่านั้นพร้อมเสนอตัวรับผิดชอบ เสนอไอเดีย รับความเสี่ยงและสร้างนวัตกรรม ตลอดจนดำเนินกิจกรรมอย่างอุตสาหะเพื่อนำไปสู่ผลกำไรของบริษัทในบั้นปลายเมื่อพนักงาน“ผู้ประกอบการภายใน หรือ Intrapreneur”  มีไอเดียและเป้าหมายที่ชัดเจนองค์กรก็จะให้การสนับสนุน ทั้งการเงินและการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม สินค้า หรือบริการใหม่ๆ เพื่อให้Intrapreneurได้ริเริ่ม สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆให้กับบริษัท พร้อมได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าเงินเดือน  อาทิ การได้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทใหม่ หรือ ได้ผลตอบแทนต่างๆที่มากกว่าตัวเงิน นับเป็นรูปแบบทางธุรกิจสมัยใหม่ที่ตอบโจทย์ให้ประสบความสำเร็จร่วมกันทุกฝ่าย

6.การใช้เทคโนโลยีโดรนเป็นเครื่องมือทางการตลาดและสื่อโฆษณา

เทคโนโลยียุคใหม่เป็นประตูสู่โอกาสใหม่ๆในการสร้างความแตกต่าง และในยุคนี้คงต้องกล่าวถึง“โดรน -Drone” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่มาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างสรรค์งานด้านการตลาดและการสื่อสาร ในทุกวันนี้ ในอดีต หากต้องการภาพถ่ายทางอากาศสวยๆ เราจะต้องลงทุนมหาศาลในการผลิต ต้องใช้เครน ติดตั้งนั่งร้านหรือแม้แต่ใช้เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการผลิตมหาศาล และมีเพียงแบรนด์ใหญ่ๆเท่านั้นที่มีงบประมาณมากพอจะทำได้ แต่ในปัจจุบันนี้“โดรน – Drone”ทำให้การสร้างวีดีโอมาร์เก็ตติ้งสวยๆนั้นไม่เกินเอื้อมอีกต่อไป เราจะได้เห็นภาพถ่ายทางอากาศสวยๆของโครงการอสังหาริมทรัพย์ มุมกล้องแปลกใหม่ในหนังภาพยนตร์ฟอร์มเล็ก หรือภาพสวยๆที่บรรดาบล็อกเกอร์ใช้โดรนในการถ่ายทำ และที่มากกว่านั้น คือ ในบางประเทศยังสามารถใช้โดรนเป็นสื่อโฆษณาที่ใช้นำเสนอแบนเนอร์ หรือฉายข้อความดิจิตอลบนแลนด์มาร์ค สถานที่สำคัญ ต่างๆได้อีกด้วย เป็นการเปิดมุมมองความสร้างสรรค์ใหม่ๆให้กับโลกการตลาดทีเดียว

7.ความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 24/7

ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติทั้งแบบใช้เงินสดและไม่ใช้เงินสด ทั้งแบบที่ขายสินค้าพื้นฐานอย่างน้ำผลไม้สด ไปจนถึงอาหารสดชั้นดีอย่างเนื้อปลาแซลมอนในแพ็คสูญญากาศกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในสิงคโปร์  ข้อดีของตู้หยอดเหรียญคือ เป็นการทำงานแบบไม่ต้องใช้คนขาย เปิดตลอด 24 ชั่วโมง เปิดทุกวันและเสนอทางเลือกชำระเงินที่หลากหลาย และความนิยมตู้อัติโนมัติที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบกับผู้ค้ารายย่อย เช่นร้านขายเครื่องดื่มข้างถนน หรือร้านขายของชำ ในขณะเดียวกันตู้ขายสินค้าอัตโนมัตินี้ ยังกลายเป็นพื้นที่สื่อโฆษณากลางแจ้งราคาย่อมเยา ที่เป็นทางเลือกใหม่ๆในการทำโฆษณาแบบ Out-Of-Home (OOH) แต่นักการตลาดต้องมีความเข้าใจกลุ่มตลาดเป้าหมาย ทั้งในแง่ทำเลที่ตั้งเชิงกลยุทธ์และ ธรรมชาติการรับสื่อ Out-Of-Home (OOH) ของพวกเขา จึงจะสามารถเลือกใช้ สื่อโฆษณาบนตู้ขายสินค้าอัตโนมัติเป็นชช่องทางการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

8.ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม

ในยุคที่ลูกค้าได้รับการเชื่อมต่อและรับรู้ข่าวสารทางโลกออนไลน์ย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง พวกเขามีแนวโน้มที่จะตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึกเป็นตัวนำ แต่ในโลกของธุรกิจขนาดใหญ่ นั้นยากที่แบรนด์จะสามารถสร้างความรู้สึกผูกพันกับลูกค้า ดังนั้น เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งธุรกิจจำนวนมากต่างหันมาใช้ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นหนึ่งในหลายๆ วิธีในการดึงดูดลูกค้า ซึ่งวิธีการก็มีหลากหลาย ตั้งแต่การระดมทุนหรือการให้การสนับสนุนสำหรับโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

แต่ทางกลับกันความคิดริเริ่มทางสังคมเหล่านี้ทำให้บริษัทฯ สามารถบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจของพวกเขาผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ช่วยสร้างความเกี่ยวข้องและความผูกพันทางอารมณ์สำหรับบริษัทเหล่านี้เพื่อทำการตลาดแบรนด์ของพวกเขาอย่างไรก็ตามการตลาดที่ปราศจากการเข้าอกเข้าใจผู้บริโภคอย่างมีความรู้สึกร่วม นั้นล้าสมัยไปแล้ว และด้วยการเพิ่มขึ้นของข่าวปลอมความถูกต้องในการสื่อสารการตลาดมีความสำคัญในการสร้างปัจจัยความน่าเชื่อถือสูงในผู้บริโภค

  1. การทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมาร์ทโฮม

เมื่อเทคโนโลยียุคใหม่มีการพัฒนามากขึ้นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านส่วนใหญ่ จะมีการพัฒนาเสริมด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI)ที่จะทำให้อุปกรณ์ทุกชิ้นในบ้าน อาทิ ตู้เย็น มีความชาญฉลาด (Smart Home) สามารถช่วยตรวจสอบพฤติกรรมการบริโภค และช่วยเตือนเจ้าของบ้านโดยอัตโนมัติให้สั่งซื้อสินค้าที่คงเหลือน้อย เทคโนโลยีนี้จะพาเราก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการจับจ่ายซื้อของตามร้านขายของชำแบบดั้งเดิมจะเปลี่ยนไป ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบบูรณาการโดยตรงกับซัพพลายเออร์การชำระเงินดิจิตอลและการจัดส่ง รูปแบบการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจะเปลี่ยนไป

ด้วยเทคโนโลยีSmart Home ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ“ปัญญาประดิษฐ์”(AI)ในสมาร์ทโฮมที่มีการจดจำใบหน้าและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI)จะตรวจสอบพฤติกรรมของแต่ละบุคคลและให้ความเป็นส่วนตัวในการใช้ชีวิตที่บ้านตั้งแต่การตั้งค่าอุณหภูมิในบ้านไปจนถึงแสงไฟบรรยากาศเพื่อความบันเทิงเช่นเพลงส่วนตัวและรายการโทรทัศน์ดังนั้นนักการตลาดจะต้องเข้าใจเทคโนโลยี Smart Home ที่เกิดขึ้นใหม่และเรียนรู้วิธีการควบคุมเทคโนโลยีนี้เพื่อทำการตลาดผลิตภัณฑ์ของตน

และที่สำคัญที่สุด คือ นักการตลาดจะต้องเข้าใจถึงความสำคัญของการตลาดยุคใหม่ที่เน้นการเชื่อมต่อกับลูกค้าในระดับบุคคล ในยุคนี้ แบรนด์ที่นำเสนอเพียงแค่สินค้าและบริการจะไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ความเข้าใจและการให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูกค้าจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการตลาดและการทำธุรกิจในภาพรวม