ลุ้น! ‘ก.ทรัพยากรฯ’ ไฟเขียว ทล.เข้าพื้นที่สำรวจขยายถนน 4 เลน ‘เขาช่องตะโก’ แก้รถติดหนึบ ยันออกแบบไม่กระทบชีวิต ‘สัตว์ป่า’

ทางหลวงฯลุ้นกระทรวงทรัพยากรฯไฟเขียวเข้าพื้นที่สำรวจออกแบบขยายถนน 4 เลน ทล.348 ช่วงพื้นที่มรดกโลกเขาช่องตะโก” 3 กม. พ่วงจัดทำอีไอเอตลอดเส้นทาง 48 กม. สนองนโยบายศักดิ์สยามแก้จราจรติดหนึบช่วงเทศกาลฯขนส่งสินค้า พร้อมช่วยลดอุบัติเหตุ เชื่อมคมนาคมอีสานตะวันออก โมเดลอนุรักษ์ผืนป่า ตั้งงบศึกษาปี 65 วงเงิน 95 ล้าน คาดเริ่มตอกเข็มปี 68 แล้วเสร็จภายในปี 71

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาทางหลวงหมายเลข 348 และ 3486 ช่วงที่ผ่านพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ รวมระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร (กม.) ว่า โครงการดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายและการผลักดันของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการอำนวยความสะดวก และสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง ทั้งยังสนับสนุนการขนส่งสินค้า ดังนั้น ทล. จึงได้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณในปี 2565 วงเงิน 95 ล้านบาท เพื่อนำมาสำรวจ ออกแบบรายละเอียด รวมทั้งศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตลอดเส้นทาง รวมกับเส้นทางโครงการฯ ช่วงที่ตัดผ่านบริเวณเขาช่องตะโก ระยะทาง 3 กม. ด้วย

*** ตอกเข็มปี 68 แล้วเสร็จปี 71 ***

โดยในขณะนี้ อยู่ระหว่างการรอความเห็นจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (กอม.) รวมถึงการพิจารณาของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อให้ ทล.เข้าพื้นที่ไปสำรวจและศึกษาความเหมาะสมถ้ามีมติเห็นชอบให้ ทล.เข้าพื้นที่จะสามารถดำเนินการได้ทันที โดยหาก ทล. ได้รับการอนุมัติให้เข้าพื้นที่ และรับงบประมาณศึกษาแล้ว จะเสนอรายงานอีไอเอไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาอนุมัติแนวทางต่อไป

ส่วนแนวทางการดำเนินการภายหลังผ่านการพิจารณา และการศึกษาความเหมาะสม รวมทั้งอีไอเอแล้วเสร็จนั้น ทล. จะเสนอโครงการฯ ไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อขออนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างภายในปี 2567 ส่วนจะใช้งบประมาณเท่าไหร่นั้น ต้องขึ้นอยู่ที่ผลการศึกษาโครงการฯ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 และแล้วเสร็จภายในปี 2571 เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดการสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทาง นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของประเทศ อีกทั้งเส้นทางดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่มีความสำคัญเชื่อมระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และภาคตะวันออก

*** ไม่กระทบวิถีชีวิตสัตว์ป่า-อนุรักษ์ระบบนิเวศน์ ***

สำหรับการดำเนินการโครงการดังกล่าวนั้น จะใช้รูปแบบที่เหมาะสม อาทิ อุโมงค์ระดับพื้นถนนที่ด้านบนอุโมงค์จะถูกทำเป็นพื้นที่สีเขียวเชื่อมผืนป่า ให้สัตว์ป่าสามารถสัญจรผ่านไปมาได้ รวมถึงอาจจะพิจารณาเจาะอุโมงค์ทะลุเขา เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุรถชนกับสัตว์ป่า อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า จะไม่ให้เกิดผลกระทบกับวิถีชีวิตของสัตว์ป่า และระบบนิเวศน์ หรือการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ ภายใต้การพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงคมนาคม ควบคู่ไปกับใส่ใจและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าว ทล. เป็นการขยายช่องจราจรจาก 2 ช่องจราจรไปกลับ เป็น 4 ช่องจราจรไปกลับ ตลอดเส้นทาง มีจุดเริ่มต้นที่ ทล.3486 กม.0+000-กม.19+941 และ ทล.348 กม.71+625-กม.99+645 ในพื้นที่.ตาพระยา .สระแก้ว รวมประมาณ 48 กม. ทั้งนี้ ทล.348 เป็นเส้นทางเชื่อม .อรัญประเทศ และ .นางรอง มีระยะทางทั้งหมด 140 กม. ปัจจุบันพบว่ามีปริมาณจราจรอยู่ที่ 8,000-10,000 คันต่อวัน

ขณะที่ ช่วงเทศกาลวันหยุดยาว เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ ฯลฯ จะมีรถปริมาณการจราจรเพิ่มเป็น 40,000 กว่าคันต่อวัน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก เนื่องจากเส้นทางช่วงที่ผ่านเขาช่องตะโก มีขนาด 2 ช่องจราจรไปกลับ ไม่มีไหล่ทาง คันทางแคบ ลาดชัน คดเคี้ยว มีอุบัติเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ขณะเดียวกันกันได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้เส้นทางมาอย่างต่อเนื่อง

*** ยึดโมเดล ทล.304 “เชื่อมผืนป่ามรดกโลก” ***

นายสราวุธ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับโครงการดังกล่าว ทล.ได้เสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา หลังจากที่เมื่อปี 2554 ทล. ได้ทำศึกษาอีไอเอ ภายใต้โครงการพัฒนาโครงขยายทางหลวงหมายเลข 3486 และ 348 เชื่อมโยง .อรัญประเทศ .สระแก้ว.นางรอง .บุรีรัมย์ แต่อยู่ระหว่างการอนุมัติเข้าพื้นที่ของกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อสำรวจเก็บข้อมูล

ทั้งนี้ ทล. และกระทรวงคมนาคมได้ประสานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เนื่องจากเส้นทางตัดผ่านพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 และอุทยานแห่งชาติตาพระยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งมรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ โดยเฉพาะบริเวณเขาช่องตะโก รวมทั้งศึกษารูปแบบในการขยายเส้นดังกล่าว ซึ่งจะใช้ต้นแบบ (โมเดล) ของทางหลวงหมายเลข 304 สาย .กบินทร์บุรี.ปักธงชัย (โครงการทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลก)