สรท. ผนึก ASA ร่วมหาทางออกค่าระวางพุ่ง/ตู้คอนเทนเนอร์ขาด!!

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) โดย ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Asian Shippers’ Alliance (ASA) Online Meeting 2021 ร่วมกับ Indonesia National Shippers’ Council (INSC), Shippers’ Council of Bangladesh (SCB), The Hong Kong Shippers’ Council (HKSC), Macau Shipper’s Association (MSA) และ Malaysian National Shippers’ Council (MNSC) โดยมี Mr. Denis Chourmet ประธาน Global Shippers’ Alliance (GSA) และผู้บริหารจาก The European Shippers’ Council (ESC) และ Business Council for Efficient Trade (BCET) เข้าร่วมสังเกตการณ์

ผู้เข้าร่วมประชุมมีมติที่สำคัญ ประกอบไปด้วย 1) ยกระดับความร่วมมือระหว่างสมาชิกเพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาค่าระวางที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาการขาดแคลนตู้และระวางขนส่งสินค้าทางทะเล สู่การหารือในเวทีระดับโลก อาทิ องค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก ให้มีการพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างชาติสมาชิก ตลอดจนกำหนดกฎระเบียบในการกำกับดูแลและบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานในตลาดให้มีความสมดุลและโปร่งใส ภายใต้ค่าระวางและค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่สมเหตุสมผล

2) ผลักดันให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้าในแต่ละประเทศ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศมีการตรวจสอบการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากการบริหารจัดการของสายเรือระหว่างประเทศ ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ส่งสินค้า แต่ยังก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ที่ประชุมจึงมีข้อเรียกร้องให้หน่วยงานและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมีการพิจารณามาตรการยกเว้นการรวมตัวของสายเรือและบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้บริการขนส่งสินค้าทางทะเล

3) ยกระดับความร่วมมือระหว่างสมาชิกในการแก้ไขสถานการณ์การขนส่งทางทะเลในปัจจุบัน อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลปริมาณตู้สินค้าและแนวทางแก้ไขปัญหาในแต่ละประเทศ การสร้างความร่วมมือในการเจรจากับสายเรือเพื่อให้ได้มาซึ่งระวางเรือและตู้คอนเทนเนอร์สำหรับบรรจุสินค้า เรียกร้องให้ภาครัฐในแต่ละประเทศผ่อนปรนมาตรการในด้านโลจิสติกส์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อให้ตู้สินค้าหมูนเวียนได้เร็วมากขึ้น ร่วมมือกันศึกษารูปแบบการขนส่งระหว่างประเทศที่เป็นทางเลือกเพื่อทดแทนการขนส่งสินค้าทางทะเล ตลอดจนสนับสนุนให้มีการต่อและซ่อมตู้คอนเนอร์ในแต่ละประเทศเพิ่มขึ้น เป็นต้น

องค์กรสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมต่างเผชิญผลกระทบจากการปัญหาการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่คล้ายคลึงกัน อาทิ ต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถส่งออกและนำเข้าสินค้าได้ ความถี่ในการให้บริการเดินเรือลดลงและการรอคอยตู้สินค้าทำให้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าไปถึงผู้ซื้อใช้เวลานานมากขึ้นและมีผลต่อต้นทุนการบริหารสินค้าคงคลัง การยกเลิกตู้และเที่ยวเรือในระยะกระชั้นชิดทำให้ไม่สามารถจัดหาบริการขนส่งอื่นทดแทนได้ทันเวลา และความแออัดของท่าเรือและการขนส่งในประเทศ เป็นต้น ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการฟื้นตัวของภาคการค้าระหว่างประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน

ทั้งนี้กรณีประเทศไทย หากมีการนำเข้าตู้เปล่ามากกว่า 2,012,581 ทีอียู ในปี 2564 หรือเฉลี่ย 176,000 ทีอียูต่อเดือน และสามารถทุเลาปัญหาเรื่องค่าระวาง การส่งออกของไทยในปีนี้จะสามารถเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 10% อย่างแน่นอน.