กลับมาแล้ว! ‘สกู๊ต’ ส่งเครื่องบินใหม่ ‘A321neo’ บินตรงสิงคโปร์-กรุงเทพฯ จ่อหวนบินเพิ่ม 4 เส้นทางหลังโควิดคลี่คลาย ชี้ ‘ไทย’ จุดหมายปลายทางที่สำคัญ

“สายการบินสกู๊ต” ปักหมุดประเทศไทย ส่งเครื่องบินใหม่ “แอร์บัส A321neo” ประเดิมบินตรงสิงคโปร์-กรุงเทพฯ ให้บริการ 11 ไฟลท์/สัปดาห์ ลุ้นโควิดคลี่คลาย หวนกลับมาบินเพิ่มอีก 4 เส้นทาง พร้อมระบุนโยบายภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์-เปิดประเทศ “น่าตื่นเต้น” ย้ำชัดยังไม่มีแผนร่วมทุนในไทย ชี้ “ไทย” ครองตำแหน่งจุดหมายปลายทางสำคัญ

นายแคมป์เบล วิลสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินสกู๊ต เปิดเผยในการแถลงข่าวครั้งแรกในรอบ 2 ปี ผ่านระบบแอปพลิเคชั่น Zoom ว่า วานนี้ (28 มิ.ย. 2564) สายการบินสกู๊ต สายการบินราคาประหยัดภายใต้การบริหารของกลุ่มสิงคโปร์แอร์ไลน์ ได้เปิดให้บริการด้วยเครื่องบินรุ่นใหม่ล่าสุด “แอร์บัส A321neo” โดยประเดิมเที่ยวบินแรก TR610 จากท่าอากาศยานชางงี (สิงคโปร์) สู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กรุงเทพฯ) และในวันเดียวกัน จากกรุงเทพฯ-สิงคโปร์

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สายการบินสกู๊ตให้บริการในเส้นทาง สิงคโปร์–กรุงเทพฯ จำนวน 11 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยมองว่า ประเทศไทย และกรุงเทพฯ อเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญในตลาดการบินของเอเชีย จากความต้องการในการเดินทาง และการขนส่งสินค้า รวมถึงด้านการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งยังเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ได้นำเครื่องบิน แอร์บัส A321neo มาให้บริการ

นอกจากนี้ ในช่วง ส.ค. 2564 สายการบินสกู๊ตจะเริ่มให้บริการด้วยเครื่องบินแอร์บัส A321neo ในเส้นทางบินอื่นๆ อาทิ สิงคโปร์–เซบู (ฟิลิปปินส์) และสิงคโปร์–โฮจิมินห์ (เวียดนาม) ขณะเดียวกัน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สกู๊ตกำลังเตรียมการ เพื่อที่จะกลับมาให้บริการอีกครั้งด้วยความปลอดภัยและมั่นใจ โดยวางแผนที่จะกลับมาให้บริการใน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1.สิงคโปร์–เชียงใหม่ 2.สิงคโปร์–หาดใหญ่ 3.สิงคโปร์–กระบี่ และ 4.สิงคโปร์–กรุงเทพฯ–โตเกียว (ญี่ปุ่น)

สำหรับนโยบายการเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใน 120 วัน โดยจะนำร่องที่ จ.ภูเก็ต ตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์นั้น นายแคมป์เบล กล่าวว่า ถือเป็นนโยบายที่น่าตื่นเต้น โดยภูเก็ต นับเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของสายการบินสกู๊ต แต่ในเบื้องต้น เส้นทางดังกล่าวนั้น สิงคโปร์แอร์ไลน์ จะให้บริการก่อน ส่วนสกู๊ต จะมีการพิจารณาให้บริการในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ เมื่อถามว่า จะมีการลงทุนหรือแผนร่วมทุนกับสายการบินของไทยหรือไม่ นายแคมป์เบล กล่าวว่า ในขณะนี้ ยังไม่มีแผนดังกล่าว

ส่วนการคาดการณ์อุตสาหกรรมการบินของไทย และในภูมิภาคนั้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วง 16 เดือนที่ผ่านมา จึงคาดการณ์อนาคตได้ค่อนข้างยาก และไม่แน่นอน แต่จากผลการศึกษา มีการคาดการณ์ไว้ว่า ตลาดการบินจะหลับมาเป็นปกติคล้ายกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดฯ ในปี 2566 ทั้งนี้ เชื่อว่า อุตสาหกรรมการบินจะกลับมาฟื้นตัวและเข้มแข็งอีกครั้ง โดยเฉพาะตลาดการบินในภูมิเอเชีย ซึ่งมีแนวโน้นการเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแรงที่สุด รวมถึงสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline) ที่จะกลับมาได้รวดเร็วด้วย ซึ่งยืนยันว่า ไทย ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนจะเติบโตได้รวดเร็วขนาดไหนนั้น จะขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลประเทศนั้นๆ

นายแคมป์เบล กล่าวต่ออีกว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ยอมรับว่า สายการบินสกู๊ตได้มีการปลดพนักงาน และปรับโครงสร้างธุรกิจเล็กลง ตามสถานการณ์และสภาพธุรกิจในปัจจุบัน เพื่อให้การดำเนินการธุรกิจ ตรงกับตามความต้องการของผู้ใช้บริหาร ซึ่งในขณะนี้ สายการบินสกู๊ต ได้เริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยมีเส้นทางการบินที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน 26 เส้นทาง จากเดิมมีทั้งหมด 68 เส้นทาง หรือประมาณ 20% จากเส้นทางทั้งหมด ส่วนเส้นทางใหม่ๆ นั้น อยู่ระหว่างการศึกษาว่า จะดำเนินการเปิดตลาดใหม่หรือไม่ ทั้งนี้ ในเบื้องต้นไม่ได้พิจารณาจากต้นทางสิงคโปร์เท่านั้น แต่จะพิจารณาจากฮับการบินอื่นๆ ด้วย

ขณะที่ ในส่วนของฝูงบิน ปัจจุบันมีจำนวนเครื่องบินทั้งสิ้น 49 ลำ แบ่งเป็น แอร์บัส A320 จำนวน 29 ลำ และโบอิ้ง 787 จำนวน 20 ลำ และในจำนวนดังกล่าว ได้นำเครื่องบิน A321neo มาทดแทนเครื่องบินเก่าที่คืนไปในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเครื่องบิน A321neo ลำใหม่ของสกู๊ตนี้ สามารถรองรับผู้โดยสาร 236 ที่นั่ง ให้บริการในชั้นประหยัดเท่านั้น กับผังที่นั่งแบบ 3-3

โดยการที่เครื่องบินแอร์บัส A321neo สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 236 ที่นั่ง จะช่วยประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่า ทำให้สกู๊ตสามารถบริหารความคุ้นทุนและควบคุมต้นทุนต่อหน่วยได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงยังช่วยให้สายการบินสามารถบริหารจัดการเครื่องบินให้สอดคล้องกับเส้นทางและความต้องการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย

รายงานข่าวจากสายการบินสกู๊ต ระบุว่า จนถึงปัจจุบัน สกู๊ตได้รับการส่งมอบเครื่องบิน A321neo แล้ว จำนวน 3 ลำ (ผ่านการเช่าแบบลีสซิ่งจาก BOC Aviation) จากจำนวนทั้งหมด 16 ลำ ซึ่งประกอบด้วย 6 ลำ ที่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อเดิมจาก A320neo มาเป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ และเป็นเครื่องบินเช่าอีก 10 ลำ นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2020/2021 ที่ผ่านมา สกู๊ตได้ปลดประจำการเครื่องบิน A320ceo จำนวน 5 ลำ ตามแผนการปรับปรุงฝูงบิน

ขณะที่ ฝูงบินที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันของสกู๊ต ประกอบด้วย เครื่องบินแบบมีช่องทางเดินเดียว จำนวน 29 ลำ ได้แก่ A320ceo 21 ลำ A320neo 5 ลำ และ A321neo 3 ลำ นอกจากนี้ ยังมี A320neo 28 ลำ และ A321neo อีก 13 ลำ ที่กำลังรอการส่งมอบ ส่วนเครื่องบินแบบลำตัวกว้างของสกู๊ตมีจำนวน 20 ลำ เป็นเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 787 ทั้งหมด และกำลังรอการส่งมอบเพิ่มอีก 7 ลำ โดยอายุเฉลี่ยของฝูงบินของสกู๊ตในขณะนี้อยู่ที่ 5 ปี 10 เดือน