แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (7 – 11 ม.ค.62)
ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะยังคงถูกกดดัน จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียที่แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงปลายปี 61 ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันคาดว่าจะถูกกดดันจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังซาอุดิอาระเบียเริ่มลดการส่งออกเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดน้ำมันดิบ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 11.2 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งในช่วงท้ายของปีได้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.4 ล้านบาร์เรล/วัน หลังกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกได้ตกลงที่ปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับปริมาณการผลิตจากอิหร่านที่คาดจะขาดหายไปหลังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร อย่างไรก็ตาม รัสเซียมีแนวโน้มปรับลดกำลังการผลิต หลังตกลงกับผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่จะปรับลดปริมาณการผลิตราว 0.2 ล้านบาร์เรล/วัน ในครึ่งแรกของปี 2562
- จับตาเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และอาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลง หลังตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ของเอเชียอย่างจีนอ่อนแอลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ Purchasing Manager Index (PMI) ของจีนในเดือนธ.ค.61 อยู่ที่ระดับ 49.4 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50.0 ซึ่งดัชนีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ค.59 หรือคิดเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ในขณะเดียวกัน ตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรโซนก็ไม่น่าพึงพอใจ หลังดัชนี PMI ของยูโรโซนปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 51.4 ในเดือน ธ.ค.61 นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.พ.59 นอกจากนี้ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงทางด้านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการปิดดำเนินงานของรัฐบาลสหรัฐฯ
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวลดลง สะท้อนให้เห็นจากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นที่เริ่มปรับตัวลดลง โดยในสัปดาห์ล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 7,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 441.4 ล้านบาร์เรล
- ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกของซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังประเทศรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียยืนอยู่ที่ 253 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ธ.ค.61 ซึ่งปรับตัวลดลงจากในเดือน พ.ย. ที่ส่งออกอยู่ที่ 7.717 ล้านบาร์เรล/วัน โดยปริมาณน้ำมันดิบที่ส่งออกจากซาอุฯ มายังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจาก 833,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ย. 61 สู่ระดับ 355,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ธ.ค.61 ในขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากซาอุฯ มายังจีนปรับตัวลดลงจาก 1.6 ล้านบาร์เรล/วัน สู่ระดับ 1.387 ล้านบาร์เรล/วันในเดือน ธ.ค.61
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ จีดีพี Q4/18 สหรัฐฯ อัตราการว่างงานยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (31 ธ.ค. 61 – 4 ม.ค.62)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 2.63 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 47.96 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 4.86 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 57.06 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 53 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับ รัสเซียยืนยันจะลดกำลังการผลิตลงราว 3-5 ล้านบาร์เรล/วันในช่วงครึ่งแรกของปี 2562
นอกจากนี้ ผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกพร้อมที่จะจัดการประชุมนอกรอบ หากการปรับลดการผลิตในครั้งนี้ไม่สามารถสร้างสมดุลในตลาดน้ำมันดิบได้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดัน หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ และรัสเซียยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับ นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง