ทีเอ็มบี ปลุกพลังอาสาสมัครกว่า 3,000 คน เปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืนทั่วประเทศ

ตลอดปี 2561 กิจกรรม เปลี่ยน ชุมชนเพื่อความยั่งยืน FAIFAH for Communities เกิดขึ้น ภายใต้แนวคิด Make THE Difference เปลี่ยน… เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้นของทีเอ็มบี ได้ถูกขับเคลื่อน โดยผู้บริหารและอาสาสมัครทีเอ็มบีกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ในการสร้างกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืน 37 โครงการทั่วประเทศ

ซึ่งได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของคนในชุมชนทั่วประเทศที่มีปัญหาหลากหลายด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และด้านเพื่อผู้พิการและผู้มีความต้องการพิเศษ ซึ่งหลายหน่วยงานอาจยังมองไม่เห็นถึงปัญหาเหล่านั้นในหลายจุด จึงเป็นที่มาของการริเริ่มจากจุดเล็กๆ ของอาสาสมัครทีเอ็มบีที่มีความตั้งใจสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ จนกลายเป็นโครงการต้นแบบในหลายชุมชนในทุกวันนี้

กาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี กล่าวว่า ทีเอ็มบีให้ความสำคัญกับการทำโครงการ FAIFAH for Communities ปีละ 37 โครงการทุกปี ติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี เพื่อพัฒนาให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะเราเชื่อในผลลัพธ์ของความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องนี้ว่า จะสามารถสร้างพลังให้สังคมได้อย่างมาก และต้องขอบคุณอาสาสมัครทีเอ็มบีทุกคน ที่ให้ความร่วมมือยอมสละเวลาวันเสาร์ อาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดในการลงพื้นที่ในชุมชน เพื่อสอบถามถึงปัญหาของชุมชน และนำมาพัฒนาเป็นกิจกรรมในโครงการ FAIFAH for Communities และในปีหน้าเราก็ยังคงจะมีโครงการใหม่ๆ ตามหลักปรัชญา Make THE Difference ของทีเอ็มบี ที่ต้องการเปลี่ยนชุมชนให้มีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น 

ความสำเร็จของโครงการ FAIFAH for Communities ทั้ง 37 โครงการในปี 2561 เกิดจากความมุ่งมั่นของอาสาสมัครทีเอ็มบีกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ โดยส่วนหนึ่งของอาสาสมัครทีเอ็มบี ที่ได้รับรางวัลอาสาสมัครดีเด่นในประเภทต่างๆ จากการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ดีร่วมกัน

ทิพย์วรรณ แซ่ปัง ผู้จัดการภาคธุรกิจสาขา สำนักงานภาคธุรกิจสาขา ซึ่งดูแลการทำโครงการ FAI–FAH เพื่อพัฒนาชุมชนในระดับภาค เผยว่า ปีนี้อาสาสมัครทางภาคใต้ได้ร่วมลงมือทำกิจกรรม 4 โครงการ หนึ่งในสี่โครงการที่ทำมาแล้วสามารถส่งผลดีต่อคนทั้งประเทศ ไม่เฉพาะในภาคใต้ ก็คือโครงการธนาคารปูม้า ที่จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากชาวบ้านมีปัญหาจับปูได้น้อยลงเพราะมีแต่คนจับปูขาย แต่ไม่มีคนอนุรักษ์พันธ์ปู จึงได้แนะนำโครงการธนาคารปูม้าให้ชาวบ้านที่จับปูม้าที่มีไข่มาฝากไว้กับธนาคารปูม้า เพื่อให้ปูวางไข่ก่อน และนำไข่ปูไปปล่อยลงทะเล ช่วยเพิ่มจำนวนปูในทะเลไม่ให้ลดน้อยลง เพราะปูหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้ครั้งละหลายแสนฟอง

ซึ่งอาสาสมัครเริ่มทำโครงการต้นแบบในจุดแรก เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ชุมชนอื่นๆ ได้มาศึกษา จนปัจจุบันมีการขยายออกไปทำในหลายชุมชนของจังหวัดภูเก็ต และภาครัฐก็ได้เข้ามาช่วยให้ความรู้แก่ชาวบ้านในเรื่องการอนุบาลปูว่าต้องทำอย่างไร โครงการที่เริ่มจากจุดเล็กๆ ก็ขยายตัวไปได้อย่างรวดเร็ว เมื่อชาวบ้านช่วยแนะนำวิธีการทำต่อๆ กันไป เราก็จะมีปูทานกันตลอดทั้งปี ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ทัศน์สันต์ แก้วสุริวงศ์ หัวหน้าบริการลูกค้าและปฏิบัติการเอกสารทางการค้า ฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจต่างประเทศ สำนักงานใหญ่ ทีเอ็มบี อาสาสมัครผู้ได้รับรางวัล “The Inspiration Awards” จากการทำ ”โครงการกินยาหรือโดนยากิน” เผยว่า ได้ทำโครงการนี้ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์พิสนธ์ จงตระกูล เภสัชกร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้คนไทยมีการตระหนักรู้ในการใช้ยากันมากขึ้น โดยเริ่มสื่อสารจากกลุ่มพนักงานออฟฟิศ และเริ่มจากเรื่องของโรคใกล้ตัว อย่างโรคหวัด หรืออาการท้องเสีย โดยเน้นให้ความรู้เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่คนไทยใช้มากเกินความจำเป็นถึง 80% จากสัดส่วนที่ควรจะอยู่ที่ 210% เท่านั้น

ซึ่งจะส่งผลเสียให้เกิดอาการดื้อยาได้ เนื่องจากบางครั้งการเป็นหวัดถ้าไม่มีอาการคอแดงอักเสบ ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อ ส่วนอาการท้องเสีย ที่ไม่ถึงขั้นถ่ายเป็นมูกเลือด ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อเช่นกัน โดยทีมอาสาสมัครได้นำความรู้เรื่องวิธีการใช้ยามาเรียบเรียงทำเป็นไวรัลคลิป ความยาว นาทีครึ่ง ลงเผยแพร่ในเฟสบุ้ค https://www.facebook.com/RDUThai/ และยูทูป เพื่อให้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี ทางด้านองค์การอาหารและยา (อย.) เกิดความสนใจเมื่อได้เห็นคลิปวิดีโอดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาให้ทำเป็นโครงการต้นแบบที่จะขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้น

สุภาวิตน์ ช่อดอกรัก ผู้จัดการเขตธุรกิจสาขา นครราชสีมา ผู้ได้รับรางวัลแชมป์เปี้ยนในฐานะที่ปรึกษาของทุกโครงการในทีมภาคเหนือ เผยว่า ผลงานที่ผ่านมาทำมาแล้ว 3 โครงการ เป็นโครงการธนาคารโรงเรียนและสหกรณ์โรงเรียน โดยเริ่มที่โรงเรียนวัดสังฆราชาวาสเป็นโครงการต้นแบบ และขยายมาทำต่อในโรงเรียนวัดพระนอนจักรศรี ต่อมาเป็นโครงการอนุรักษ์การทอผ้า อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี โดยโครงการธนาคารโรงเรียนถือเป็นโครงการแรกๆ ที่ตนและทีมงานทำแล้วรู้สึกประทับใจมาก ยิ่งเมื่อเห็นโครงการยังสามารถดำเนินการต่ออยู่ได้ และยังทำให้เด็กในโรงเรียนรู้จักการออมและชอบมาโรงเรียนมากขึ้น

การทำงานกับชุมชนช่วยสอนให้เรารู้วิธีการสอบถามความต้องการของชุมชน และสร้างให้เราเป็นคนที่มีจิตอาสามากขึ้น ยิ่งกว่านั้นคือ ต้องสร้างให้ทีมงานทุกคนมีจิตอาสาเหมือนกันกับเรา เพื่อมาช่วยลงแรงทำงานกันมากขึ้น ทุกครั้งที่ทีมอาสาสมัครลงพื้นที่ทำกิจกรรมในชุมชน ตนเองจะถ่ายทอดข้อมูลว่าทำไมต้องมาช่วยกันพัฒนาในชุมชนนั้นๆ เมื่อทำไปแล้วชุมชนจะได้อะไรบ้าง และพยายามหมุนเวียนอาสาสมัคร เพื่อให้ทุกคนได้มีประสบการณ์ร่วมกัน จนถึงวันที่ส่งมอบโครงการ ทุกคนก็จะเห็นภาพเดียวกันตั้งแต่เริ่มแรกจากที่ไม่มีอะไรเลย จนสามารถทำขึ้นมาเป็นรูปธรรมในวันส่งมอบโครงการ ได้เห็นรอยยิ้มของเด็กและคนในชุมชนแล้วทำให้รู้สึกมีความสุข ทีมอาสาสมัครเองก็จะเกิดความสุขและรู้สึกรักที่จะทำโดยสมัครใจ

ภัทราวุธ วิงวอน Senior UX Designer  สำนักงานใหญ่ ทีเอ็มบี ซึ่งได้รับรางวัล Best Volunteer จากการทำโครงการสร้างวินัยการจราจรให้เด็ก ที่บ้านเด็กอ่อนพญาไท เผยว่า ทางคุณครูที่บ้านเด็กอ่อนพญาไทต้องการความช่วยเหลือในเรื่องขององค์ความรู้ด้านการสร้างวินัยการจราจร สำหรับคุณครู และเด็ก เพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริง ทางทีมงานจึงได้ข้อสรุปว่าจะใช้เกมส์และความสนุกสนานให้เด็กได้เรียนรู้  โดยเพ้นท์สีของกระดานเกมส์ลงบนพื้นถนน เพื่อให้เด็กเดินตามช่องทางเดินและพบกับเครื่องหมายจราจรที่วางอยู่ รวมทั้งจัดทำป้ายจราจรจำลองแบบแผ่นพลาสติก เพื่อสอนเด็กในห้องเรียนด้วย ซึ่งสามารถทำเป็นต้นแบบสำหรับใช้ในสถานศึกษาทั่วประเทศได้โดยไม่สงวนลิขสิทธิ์ใดๆ

พิษณุ อบเชย ผู้จัดการ ทีเอ็มบี สาขาเทสโก้โลตัส ศรีนครินทร์ ทีมสมุทรปราการ ผู้ได้รับรางวัล “Best Volunteer” จากการทำ “โครงการพฤกษาพาเพลิน” เผยว่า เป็นการทำสวนพฤกษศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ให้แก่โรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ ในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงงานทอผ้า จึงมีปัญหาเรื่องกลิ่นสารเคมีรบกวน ผู้อำนวยการโรงเรียนแจ้งว่าต้องการให้ช่วยทำสวนพฤกษศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ในพื้นที่ขนาด 100 ตารางวา เพื่อช่วยดูดกลิ่น และเพื่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน

จึงได้ปลูกเป็นสวนพืชผักสวนครัว สวนสมุนไพร และพืชที่ช่วยดูดกลิ่น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งจากคนในชุมชนและลูกค้าทีเอ็มบีช่วยกันบริจาคต้นไม้ และจากหลายหน่วยงานที่ช่วยสนับสนุนดินจืด เพื่อใช้ปรับหน้าดินเดิมที่เป็นดินเลนและดินเค็ม รวมถึงความช่วยเหลือจากทีมนักออกแบบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาช่วยแนะนำการวางผังร่วมกับเด็ก โดยมีทีมอาสาสมัครทีเอ็มบีกว่า 70 ชีวิต ที่ช่วยกันปลูกและวางระบบรดน้ำแบบอัตโนมัติ เพื่อให้ต้นไม้อยู่ได้ในระยะยาว ปัจจุบันโรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ กลายเป็นโรงเรียนต้นแบบในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้โรงเรียนอื่นๆ ได้เข้ามาศึกษาถึงวิธีการทำสวนพฤกษศาสตร์ดังกล่าว