เปิด 7 ทำเล เนื้อที่ 189.5 ไร่ เตรียมพัฒนาพื้นที่ กทพ. สร้างประโยชน์ให้ ปชช. จ่อประเดิม ‘ใต้ทางด่วน ด่านอโศก 1’ คาดส่งมอบพื้นที่ให้พันธมิตรไปพัฒนาได้ พ.ย.นี้

“ศักดิ์สยาม” ตามงานนโยบายการใช้พื้นที่ กทพ. สร้างประโยชน์ให้ประชาชน นำร่องพื้นที่มีศักยภาพ 7 แห่ง เนื้อที่ 189.5 ไร่ จากทั้งหมด 1,136 ไร่ เล็งประเดิม “ใต้ทางด่วน ด่านอโศก 1” พัฒนาก่อน สร้างพื้นที่สีเขียว-ลู่วิ่ง-ลานพักผ่อน-ลานจอดรถ คาดส่งมอบพื้นที่ให้พันธมิตรไปพัฒนาได้ พ.ย. 64 มอบหลักการต้องไม่เป็นภาระต่อภาครัฐ พร้อมเร่งทำความเข้าใจ ปชช. พ่วงจัดทำ Action Plan ให้ชัดเจน ส่วนพื้นที่ PPP หาแนวทางร่วมลงทุนให้ดีที่สุด

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามนโยบาย เรื่อง การใช้พื้นที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มาทำประโยชน์ให้ประชาชน ผ่านระบบแอปพลิเคชั่น ZOOM ว่า กทพ. ได้รายงานว่า ปัจจุบัน กทพ. มีเขตทางรวมทั้งหมด ประมาณ 2,900 ไร่ สามารถนำมาใช้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ประมาณ 1,136 ไร่ หรือคิดเป็น 39.17% โดยที่ผ่านมา กทพ. ได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่บางส่วน เพื่อสาธารณประโยชน์ไปบางแล้ว เช่น การพัฒนาสวนหย่อมสวนสาธารณะ เส้นทางจักรยาน และการจัดทำเส้นทางลัด เป็นต้น

สำหรับการพัฒนาพื้นที่เพื่อประโยชน์ของประชาชน ตามนโยบายของนายศักดิ์สยามนั้น กทพ. ได้พิจารณาพื้นที่ที่มีศักยภาพ จำนวน 7 แห่ง ขนาดเนื้อที่ประมาณ 189.5 ไร่ ดังนี้

  1. บริเวณใต้ทางด่วน ด่านอโศก 1 เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว พร้อมลู่วิ่ง ลานพักผ่อน และกิจกรรม โซนสันทนาการและลานจอดรถ คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้พันธมิตรรับไปพัฒนาได้ใน พ.ย. 2564
  2. บริเวณพื้นที่ร่วมบริการทางพิเศษเพลินจิต เนื้อที่ประมาณ 4.5 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่ร่วมบริการ และลานกิจกรรม คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้พันธมิตรรับไปพัฒนาได้ใน ก.ค. 2566
  3. บริเวณศูนย์บริการทางพิเศษบางโปรง เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ พัฒนาเป็น Service Center ครบวงจร (เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP ซึ่งจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป)
  4. บริเวณพื้นที่บริการสังคมทางพิเศษสีลม เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่ร่วมบริการ และลานกิจกรรม คาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกได้ประมาณ ก.ย. 2566
  5. บริเวณสถานที่บริการทางพิเศษอุดรรัถยา กม.16 เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ พัฒนาเป็น Service Area ครบวงจร (เป็นโครงการ PPP ซึ่งจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป)
  6. พื้นที่ทางพิเศษอุดรรัถยา บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต เนื้อที่ประมาณ 98 ไร่ พัฒนาเป็น Park & Ride และโลจิสติกส์ (เป็นโครงการ PPP ทั้งนี้ อาจพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
  7. พื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ พัฒนาเป็น ศูนย์บริการรัฐวิสาหกิจ ร้านค้า Skywalk และพื้นที่สาธารณะ คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกได้ ประมาณ ก.ย. 2567

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ตนได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้ กพท. กล่าวคือ การพัฒนาพื้นที่ ขอให้ กทพ. พิจารณาภายใต้หลักการว่า การพัฒนาจะต้องสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการบริหาร และไม่เป็นภาระต่อภาครัฐ ทั้งนี้ การออกแบบโครงการจะต้องออกแบบให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้พื้นที่ด้วย ขณะเดียวกัน ขอให้ กทพ. ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงวัตถุประสงค์ของการพัฒนาให้มีความชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการดำเนินการตามที่ได้วางแผนไว้ รวมถึงเพื่อลดปัญหาที่จะเกิดจากการพัฒนาพื้นที่

นอกจากนี้ สำหรับพื้นที่ที่การพัฒนาจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ขอให้ กทพ. พิจารณาแนวทางร่วมลงทุนที่ดีที่สุดในการดำเนินการ โดยจะต้องมีความชัดเจน ทั้งในส่วนของวงเงินการลงทุน และผลตอบแทน ขณะที่ การพัฒนาพื้นที่ต่างๆ นั้น กทพ. จะต้องจัดทำ Action Plan ให้มีความชัดเจน และจะต้องสื่อสารการดำเนินการตามแผนงานเพื่อสร้างการรับรู้อย่างกว้างขวาง