เผยความคืบหน้าการเจรจา FTA ไทย – ตุรกี เตรียมแลกเปลี่ยนข้อเสนอเปิดตลาดต้นปีหน้า

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับตุรกี รอบที่ 4 เมื่อวันที่ 12-14 ธ.ค.61 ณ กรุงเทพฯ โดยการหารือมีความคืบหน้าค่อนข้างมาก ทั้งการยกร่างข้อบท และการแลกเปลี่ยนข้อเสนอการเปิดตลาดในต้นปี 2562 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทย – ตุรกี รอบที่ 4 ทั้งสองฝ่ายพยายามลดความแตกต่างและหาท่าทีร่วมกันให้ได้มากที่สุดในการจัดทำข้อบท 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ข้อบทว่าด้วยการค้าสินค้า 2.ข้อบทกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการคำนวณและสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า 3.ข้อบทด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อาทิ ขอบเขตการใช้มาตรการและการประเมินความเสี่ยง 4.ข้อบทด้านมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน และมาตรการปกป้องทางการค้า 

และ 5.ประเด็นด้านกฎหมาย เช่น กลไกการหารือสองฝ่ายเพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติตามพันธกรณีเมื่อความตกลง FTA มีผลใช้บังคับ และกลไกการระงับข้อพิพาททางการค้า เป็นต้น โดยในส่วนข้อบทที่ยังมีความเห็นต่างกันให้พยายามหาทางออกในการประชุมครั้งต่อไป ที่ตุรกีจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนเมษายน 2562 รวมทั้งตั้งเป้าปิดรอบการเจรจาภายในปี 2563 นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังสามารถตกลงรูปแบบการลดเลิกภาษีศุลกากรที่จะเป็นพื้นฐานในการแลกเปลี่ยนข้อเสนอการเปิดตลาดในต้นปี 2562

ทั้งนี้ ตุรกีถือเป็นตลาดใหญ่และตลาดใหม่ของไทย มีประชากรกว่า 80 ล้านคน ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ อยู่ตรงกลางระหว่างตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ โดยในปี 2560 ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 36 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,517.39 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.4 โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปตุรกีมูลค่า1,266.46 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากตุรกีมูลค่า 250.94 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2561 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า1,233.14 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปตุรกี 963.18 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากตุรกี 269.96 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับสินค้าศักยภาพของไทยที่ส่งออกไปยังตุรกีในรอบปีที่ผ่านมา เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา เส้นใยประดิษฐ์ และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูปเครื่องประดับอัญมณี เคมีภัณฑ์ ลวดและสายเคเบิล เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น