ลุยต่อ! รถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.2 แสนล้าน หลังศาลปกครองฯ มีคำสั่งจำหน่ายคดี ยึดเกณฑ์เทคนิค30-ผลตอบแทน70 จ่อเปิดประมูล เม.ย.นี้
“ผู้ว่า รฟม.” ตั้งโต๊ะแถลงปมรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.2 แสนล้าน พร้อมเปิดเอกสารโชว์ หลังศาลปกครองฯ จำหน่ายคดี ยันเกณฑ์คัดเลือกเอกชนเทคนิค 30 คะแนน-ผลตอบแทน 70 คะแนน เหตุต้องการคุณภาพ-ความปลอดภัยสูงสุด ลั่น! ล้มประมูลครั้งแรกล่าช้าแค่ 1 เดือน ลุยเดินหน้าเปิดประมูล เม.ย.นี้ พร้อมชง ครม. เคาะผลเจรจา ส.ค. 64
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า รฟม. ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดี รวมถึงเหตุแห่งการพิจารณาเกี่ยวกับการขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองไม่มีอยู่ต่อไป และคดีนี้มิได้เป็นคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ การพิจารณาคดีต่อไปไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ได้ยื่นคำร้องชี้แจงข้อเท็จจริงและขอให้จำหน่ายคดีต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ฉบับลงวันที่ 5 มี.ค. 2564 จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำขอที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพิพาทหมดสิ้นไป ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อออกคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ต่อไปอีก และศาลยังได้มีคำสั่งให้คำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สิ้นผลบังคับลงไปด้วย
สำหรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนนั้น รฟม.ยังคงยืนยันที่จะพิจารณาทั้งจากด้านเทคนิค 30% ควบคู่กับผลตอบแทนการลงทุนอีก 70% เนื่องจากสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการมีอาคารอนุรักษ์อยู่เป็นจำนวนมาก ต้องดำเนินการด้วยเทคนิคก่อสร้างที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด แต่อย่างไรก็ตาม เอกชนสามารถเสนอความคิดเห็นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นเสนอราคาอย่างเดียวหรือจะใช้สัดส่วนด้านเทคนิคและราคาเป็นเท่าไหร่
นายภคพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการล้มประมูลครั้งแรก เพื่อเร่งเปิดประมูลใหม่ในครั้งที่ 2 โดยไม่รอคำตัดสินของศาลนั้น ยอมรับว่า อาจจะทำให้โครงการล่าช้ากว่ากำหนด 1 เดือน แต่หากรอผลการพิจารณาของศาล อาจจะทำให้เกิดความล่าช้า 1 ปี ซึ่งอาจสร้างความเสียหายมากกว่า สำหรับขั้นตอนต่อไป หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สิ้นผลบังคับลงไปด้วย รฟม.จะออกประกาศเชิญชวนภายใน เม.ย. 2564 หลังจากนั้นจะขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ ในเดือน มิ.ย. 2564 และประเมินข้อเสนอ และประกาศผลได้ข้อสรุปภายใน ก.ค. 2564 ทั้งนี้ แม้จะมีผู้ยื่นเสนอรายเดียว ก็สามารถดำเนินการได้ และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน ส.ค. 2564 เพื่อพิจารณาเห็นชอบผลการเจรจาต่อไป
“การยกเลิกการประมูลและเปิดประมูลใหม่ จะช่วยให้การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทำได้เร็วกว่าการรอคำสั่งศาลที่คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ซึ่งตามขั้นตอนศาลแล้วจะต้องมีการอุทธรณ์ของคู่กรณี แต่การเปิดประมูลใหม่เบื้องต้นล่าช้ากว่ากำหนดราว 1 เดือนเท่านั้น ศาลได้สั่งให้จำหน่ายคดีนี้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องรอผลคำพิพากษา ถือว่า คำสั่งขอคุ้มครองฉุกเฉินให้ใช้เกณฑ์คัดเลือก ก่อน รฟม. แก้ไข สิ้นผลบังคับใช้ไปด้วย ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว รฟม. จึงสามารถเดินหน้าประมูลครั้งใหม่ต่อไปได้” นายภคพงศ์ กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากจากกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า ตามที่มีเอกชนยื่นฟ้องต่อศาล กรณี รฟม. ประกาศยกเลิกการประกวดราคา เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 นั้น ก็เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาของศาล ส่วนกรณีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ตรวจสอบโครงการดังกล่าวนั้น วันนี้ (9 มี.ค. 2564) นายกฯ ไม่ได้สั่งการอะไรพิเศษต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาตามกระบวนการราชการ ซึ่งหากมีการยื่นร้องต่อนายกฯ แล้ว จะมีการส่งเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อส่งให้ รฟม. มีการชี้แจงต่อไป อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไม่ได้ห่วงอะไร ขณะที่ การจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสาร RFP นั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562
“ส่วนกรณีที่ BTSC จะแถลงข่าวความคืบหน้าเรื่องการดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีส้มในวันพรุ่งนี้ (10 มี.ค. 2564) เป็นสิทธิที่จะดำเนินการ จะไปห้ามคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่มีอำนาจสั่งให้ รฟม.ดำเนินการในรูปแบบต่างๆ ได้ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการยื่นฟ้องร้องต่อศาลแล้ว จากนั้นให้ศาลทำหน้าที่ตัดสิน ถ้าทำไม่ถูกศาลก็ตัดสินเอง ถ้าทำถูกต้องเดินต่อไป เพราะ RFP แบบนี้ไม่มีเฉพาะสีส้มเท่านั้น แต่หมายถึงเป็นการดำเนิน RFP ที่ใช้ทั่วไป” แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า BTSC ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามโดยนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร BTSC เพื่อขอให้ตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 128,000 ล้านบาท ซึ่งรายละเอียดในหนังสือดังกล่าว ระบุว่า ได้ขอให้นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ รฟม. หยุดกระทำการใดๆ กับโครงการฯ จนกว่าศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษา พร้อมกันนี้ยังมองว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นรายละเอียดการประมูลโครงการฯ รอบใหม่ เป็นการใช้เกณฑ์เดิม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (10 มี.ค. 2564) BTSC จะแถลงข่าวความคืบหน้าเรื่อง “การดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีส้ม” ด้วย
สำหรับโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตกระยะทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) แบ่งเป็น ส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กม. จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) โดยกำหนดเปิดให้บริการฝั่งตะวันออกในปี 2567 และฝั่งตะวันตกในปี 2569