ราคาน้ำมันดิบคาดปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังโอเปกประกาศลดกำลังการผลิต

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (10-14 ธ.ค.61)

ราคาน้ำมันดิบคาดจะได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังโอเปกปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อรักษาสมดุลของตลาดน้ำมันดิบ ประกอบกับ แคนาดาเตรียมลดกำลังการผลิตในปีหน้าลง เพื่อลดปริมาณน้ำมันดิบคงคลังภายในประเทศซึ่งอยู่สูงกว่าระดับเฉลี่ยปกติ นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง หลังอุปสงค์น้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดัน จากความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อผลสรุปของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับ อุปทานน้ำมันดิบโลกยังคงล้นตลาดอยู่

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกเตรียมลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงอย่างน้อย 2 ล้านบาร์เรล/วัน จากปริมาณการผลิตในเดือน ต.ค.61 เพื่อลดปริมาณน้ำมันดิบในตลาดที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับ อุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปีหน้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยโอเปกจะลดกำลังการผลิตลง 8 แสนบาร์เรล/วัน ขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก รวมทั้งรัสเซียจะลดกำลังการผลิตลง 4 แสนบาร์เรล/วัน โดยการลดกำลังการผลิตครั้งนี้จะเริ่มมีผลในปี 2562 ซึ่งโอเปกและพันธมิตรจะทำการทบทวนกำลังการผลิตอีกครั้งในการประชุมในเดือนเมษายนปีหน้า อย่างไรก็ตาม ตลาดกังวลว่าการลดกำลังการผลิตดังกล่าวไม่สามารถที่จะต้านทานการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันดิบโลกได้
  • แคนาดาประกาศให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบลดกำลังการผลิตลงร้อยละ 8.7 หรือเท่ากับ 325,000 บาร์เรล/วัน จนกว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังแคนาดาจะลดลง จากนั้น จะให้ผู้ผลิตลดกำลังการผลิตลงอย่างต่อเนื่องราว 95,000 บาร์เรล/วัน จนถึงเดือน ธ.ค.62 เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันดิบแคนาดาต่ำ และท่อขนส่งน้ำมันดิบไม่เพียงพอ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในประเทศอยู่ในระดับสูง โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังใน Alberta ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 35 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นสองเท่าของปริมาณเฉลี่ยปกติ อย่างไรก็ตาม การลดกำลังการผลิตนี้จะมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค.62 เป็นต้นไป
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังโรงกลั่นกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล ประกอบกับ สหรัฐฯ เพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 30 พ.ย.61 ปรับลดลงราว 3 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่า จะปรับเพิ่มขึ้น 5.4 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าสหรัฐฯ และจีนทำการตกลงในการประชุม G20 ณ ประเทศอาร์เจนตินา ว่าจะไม่เพิ่มภาษีนำเข้าเป็นเวลาอย่างน้อย 90 วัน เพื่อให้สองประเทศเจรจาหาข้อสรุปของสงครามการค้าร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามผลของการเจรจาในช่วง 90 วันนี้ หลังสหรัฐฯ และจีนเตรียมที่จะขึ้นภาษีนำเข้าของทั้งสองประเทศจาก 10% เป็น 25% หากการเจรจาระหว่างสองประเทศไม่บรรลุผล
  • ราคาน้ำมันดิบคาดถูกกดดันจากภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากสองผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียในเดือน พ.ย.61 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 10.65 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน ต.ค.61 สู่ระดับ 11.3 ล้านบาร์เรล/วัน ในขณะที่กำลังการผลิตของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตของรัสเซียปรับตัวลดลงจาก 11.4 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน ต.ค.61 สู่ระดับ 10.7 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน พ.ย.61
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคจีน และดัชนีภาคการผลิตและการบริการยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3-7 ธ.ค.61)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 1.68 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 52.61 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.96 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล มาอยู่ที่ 61.67 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ของนักลงทุนว่าโอเปกจะพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง ในการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 6 ธ.ค.61 ประกอบกับ สหรัฐฯ และจีนทำการตกลงในการประชุม G20 ว่าจะหยุดการขึ้นภาษีนำเข้าของทั้งสองประเทศชั่วคราว ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าปริมาณการค้าขายในตลาดอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจาก ค่าเงินสหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ประกอบกับ ความกังวลของตลาดเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบโลก หลังกาตาร์ประกาศถอนตัวออกจากกลุ่มโอเปก