‘ส.ผู้ประกอบการขนส่งทั่วไทยฯ’ ร้อง ‘บิ๊กตู่’ ช่วยเหลือธุรกิจรถโดยสารไม่ประจำทาง หลังโดน ‘โควิด-19’ เล่นงานอ่วม

“สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย” บุกทำเนียบฯ ยื่นหนังสือ “นายกฯ” ร้องช่วยเหลือผู้ประกอบการ 3 ข้อ หลังโดนโควิด-19 เล่นงานอ่วม! วอนหนุนเงิน 600 ล้าน ช่วยเหลือรถรับจ้างไม่ประจำทาง 4 หมื่นคัน วงเงิน 5 พันบาท 3 เดือน พร้อมหา Soft Loan-ตั้งกองทุนกู้เงินปรับฟื้นสภาพรถผ่านกองทุน กปถ. พ่วงผุดแคมเปญหลังโควิดคลี่คลาย แนะกระตุ้นท่องเที่ยว-เดินทางข้ามจังหวัด สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 300 ล้าน

นายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยผู้แทนของสมาคมฯ ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความช่วยเหลือให้กับกลุ่มธุรกิจรถโดยสารไม่ประจำทาง ที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนอย่างหนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หลังจากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐโดยตรง ทั้งนี้ การยื่นหนังสือดังกล่าว มีนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือ พร้อมทั้งรับทราบปัญหา และร่วมกันนำเสนอแนวทางแก้ไข ก่อนนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

สำหรับข้อเรียกร้องเพื่อขอความช่วยเหลือผู้ประกอบการถโดยสารไม่ประจำทางนั้น แบ่งออกเป็น 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ลดรายจ่าย ทั้งในส่วนของหนี้สินกับธนาคาร-ไฟแนนซ์ รวมถึงเงินเดือนลูกจ้าง เงินประกันสังคม เงินชดเชยลูกจ้างในระบบประกันสังคมจากการว่างงานคนละ 7,500 บาท จำนวน 3 เดือน ลักษณะเดียวกับที่ประกันสังคมจ่ายในช่วงโควิด-19 ระยะแรก และการยกเว้นค่าภาษีประจำปีรถโดยสาร พร้อมทั้งค่าปรับต่างๆ ของรถ และสถานประกอบการที่ค้างชำระ

2.การเสริมสภาพคล่อง โดยขอรับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรถรับจ้างไม่ประจำทาง จำนวน 40,000 คัน วงเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน หรือวงเงินคันละ 15,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 600 ล้านบาท นอกจากนี้ ขอให้มีแหล่งเงินทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจให้อยู่รอดและยังคงยึดหลักด้านสาธารณสุขและความปลอดภัย และขอให้มีการตั้งกองทุนที่ไม่ใช่ผ่านระบบไฟแนนซ์หรือธนาคาร เพื่อนำมาปรับปรุงฟื้นสภาพรถที่จะนำมาประกอบกิจการ คันละ 300,000 บาท โดยใช้ทะเบียนรถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และของบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) นำมาใช้กับโครงการดังกล่าว โดยมีดอกเบี้ยในอัตราพิเศษด้วย

3.สร้างรายได้ โดยเร่งให้เกิดการเดินทางของภาครัฐให้มากที่สุด หลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ลดลง เนื่องจากในขณะนี้ ได้มีการตัดงบประมาณการเดินทางในประเทศจากหน่วยงานต่างๆ ขณะเดียวกัน ขอให้มีการจัดจ้างรถโดยสารไม่ประจำทางทั่วประเทศ จังหวัดละ 100 คัน พาประชาชนเดินทางท่องเที่ยวข้ามเขตจังหวัด เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้แต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หากมีการเดินทางจังหวัดละ 4,000 คน ซึ่งรวมทั้งประเทศจะมีผู้เดินทาง 300,000 คน จะสามารถสร้างเงินหมุนเวียนได้กว่า 300 ล้านบาท จากการสนับสนุนงบเพียง 76 ล้านบาท ทั้งนี้ การจัดจ้างดังกล่าวขอให้เป็นการจัดจ้างกับบริษัทผู้ประกอบการโดยตรง และไม่ผ่านตัวแทนการท่องเที่ยว