‘คมนาคม’ ลั่น! เลื่อนเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาทตลอดสาย ‘เป็นเรื่องที่ดี-แต่เพิ่มภาระหนี้’ แนะบริหาหนี้สินรูปแบบ รฟม.

“คมนาคม” ลั่น! “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” เลื่อนจัดเก็บ 104 บาทตลอดสาย ชี้เป็นเรื่องที่ดี แต่เพิ่มภาระหนี้มากขึ้น ยันควรถกร่วม “คมนาคม-คลัง” พร้อมเสนอ ครม. เคาะพิจารณา พ่วงแนะใช้รูปแบบบริหารหนี้ของ รฟม. เหมาะสมที่สุด

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่วานนี้ (8 ก.พ. 2564) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกประกาศเรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเลื่อนเก็บค่าโดยสารโครการในอัตรา 104 บาทตลอดสายออกไปก่อน เดิมจะเก็บอัตราค่าโดยสารดังกล่าว ในวันที่ 16 ก.พ. 2564 หลังจากได้ประกาศไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 เพื่อลดผลกระทบของประชาชน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า การเลื่อนเก็บค่าโดยสาร 104 บาทตลอดสายออกไปก่อน ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การดำเนินการดังกล่าว มองว่า จะเป็นการสร้างภาระหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากจะต้องจ้างเอกชนเดินรถ และไม่มีการเก็บค่าโดยสาร หลังจากได้ให้บริการโดยไม่จัดเก็บค่าโดยสารตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา และ กทม. เป็นหนี้กับบริษัทเอกชนกว่า 9 พันล้านบาทในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในส่วนของการคิดอัตราค่าโดยสารนั้น ขอให้ กทม. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อช่วง พ.ย. 2561 ให้ครบถ้วน ซึ่งใน มติ ครม. ดังกล่าว ได้กำหนดไว้ว่า กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และ กทม. จะต้องไปบูรณาการร่วมกัน ในเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสาร และการจัดระบบการขนส่งให้ชัดเจน แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการหารือร่วมกัน พร้อมทั้งควรจะดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการ ก่อนที่จะกำหนดค่าโดยสารออกมา

“การจะทำอะไร ต้องเข้า ครม. เพราะ กทม. ไม่ใช่ ครม. ขั้นตอนยังไม่ถูกต้อง ตอนที่ กทม.จะคิดค่าโดยสาร ต้องมาประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคมก่อน แล้วตอนนี้มาคิดค่าโดยสารให้งง โดยตามที่กำหนดเพดานสูงสุดอยู่ที่ราคา 158 บาท แล้วเอาระยะทางมาหาร ซึ่งภาพอาจจะดูดี แต่เวลาเก็บค่าโดยสารเส้นทางตรงกลาง กลับเอาสถานีมาเป็นตัวตั้ง หรือเก็บสถานีละ 3 บาท ซึ่งถ้าจะหารจริง ต้องเท่ากันหมด หรือใช้แฟร์เรท แต่ที่ผ่านมาไม่มาคุยกับกระทรวงคมนาคม ถ้าคุยเราก็จะบอกทำแบบนี้” แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของการบริหารหนี้สินนั้น มองว่า กทม. ควรจะบริหารหนี้ในรูปแบบที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการ ซึ่งวิธีดังกล่าว รฟม. ได้เคยเสนอดำเนินการในรูปแบบนั้นอยู่แล้ว กล่าวคือ เพื่อดำเนินการกู้เงินมา โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน และเมื่อถึงเวลาชำระหนี้ ก็ดำเนินการวางแผนบริหารหนี้กับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ขณะเดียวกัน รฟม. จะจัดเก็บค่าโดยสารส่งคืนเพื่อเป็นรายได้ให้กับกระทรวงการคลัง ซึ่งรูปแบบดังกล่าว เป็นวิธีการที่โครงการขนาดใหญ่ใช้ดำเนินการ โดยจะมีการกำหนดกรอบเวลาการชำระหนี้คืนให้ชัดเจน ซึ่งจากหนังสือก่อนหน้านี้ กทม. ก็จะดำเนินการในรูปแบบนั้น แต่กลับให้เอกชนรับหนี้งานก่อสร้างส่วนต่อขยายไป แล้วมีการจ้างเอกชนเดินรถ โดยไม่เก็บค่าโดยสาร ทั้งที่มีเงินโดยไม่ติดภาระวงเงินประมาณ 5 หมื่นกว่าล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดังกล่าว กระทรวงคมนาคม ได้มีความเห็นเพิ่มเติมไปแล้วก่อนหน้านี้ 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การคิดอัตราค่าโดยสาร 2.การบริหารทรัพย์สิน ที่จะต้องเป็นประโยชน์ต่อรัฐ โดยให้พิจารณาให้สมบูรณ์ ผลการศึกษา ซึ่งเมื่อครบสัญญาสัมปทาน 30 ปี ในปี 2572 โครงการดังกล่าว ควรต้องกลับมาเป็นของรัฐ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐมากขึ้น 3.ประเด็นข้อพิพาททางด้านกฎหมาย ซึ่งยังอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีการลงนามโดยมิชอบ เมื่อปี 2559 เพื่อขยายถึงปี 2585 และมีการโอนทรัพย์สินในปี 2561 และ 4.ประเด็นครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

“กระทรวงคมนาคมได้ส่งหนังสือไป โดยมีความเห็น 4 เรื่อง พร้อมทั้งทำหนังสือ 4 ฉบับ โดยยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมไม่ได้ค้าน แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. ขณะเดียวกันที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือขอข้อมูลไปตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ หรือปลายปี 2563 จำนวน 9 เรื่อง แต่ได้การตอบกลับมา 2 เรื่อง ซึ่งอยากรู้ว่า ถ้า กทม.ทำแบบนี้ รถไฟฟ้าสีอื่นทำแบบนี้ได้ไหม” แหล่งข่าว กล่าว