ท่าเรือประจวบ” ลงนาม MOU “ซีฮอร์ส” เดินเรือเฟอร์รี่’จุกเสม็ด-บางสะพาน’

นายสมศักดิ์ ศิวะไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด หรือ PPC ผู้ให้บริการท่าเรือพาณิชย์เอกชนซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเหล็กสหวิริยา ร่วมกับ นายพงศ์เทพ เหลืองสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการเรือเดินทะเลระหว่างท่าเรือจุกเสม็ดกับท่าเรือบางสะพาน เพื่อร่วมกันส่งเสริมพัฒนาการขนส่งทางน้ำ และสนับสนุนการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน โดยการทดลองวิ่งเรือ RORO เส้นทางระหว่างท่าเรือสัตหีบ (จุกเสม็ด) อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี – ท่าเรือประจวบ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบด้วยการขนส่งสินค้า ยานพาหนะ และผู้โดยสารในเดือนมีนาคม

อย่างไรก็ดี ในการดำเนินงานบริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด ได้ใช้ท่าเทียบเรือท่า C โดยเรือที่ใช้ในการดำเนินโครงการฯ มีชื่อว่า ดิ บลู ดอลฟิน (The Blue Dolphin) มีความยาว 136.60 เมตร มีระวางขับน้ำ 7,003.00 ตัน สามารถบรรทุกรถได้ครั้งละประมาณ 80 คัน เป็นเรือขนส่งและโดยสารซึ่งภายในจะมีการให้บริการที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยจะใช้เวลาเดินเรือในเส้นทางดังกล่าวถึงจุดหมายประมาณ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุน และระยะเวลาในการเดินทางถึงที่หมายได้เร็วขึ้น

บริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด ได้รับอนุญาตจากกระทรวงคมนาคมให้ประกอบกิจการเป็นท่าเรือพาณิชย์สากล พร้อมให้บริการท่าเทียบเรือสำหรับเรือเดินทะเลพาณิชย์ และเรือบรรทุกสินค้าทั่วไป รวมถึงมีบริการรับฝากเก็บสินค้า และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ท่าเรือน้ำลึกได้ออกแบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติของท้องทะเล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตัวท่าตั้งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตก ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นร่องน้ำลึกโดยธรรมชาติ มีเขื่อนกันคลื่น (Break Water) ลักษณะคล้าย บูมเมอแรง วางตัวขนานกับตัวท่าเรือ ซึ่งสร้างขึ้นจากวัสดุคอนกรีตหล่อสำเร็จรูป (Accropode) ทำหน้าที่รับแรงปะทะของคลื่นลม เพื่อให้สามารถจอดและทำงานได้อย่างปลอดภัยบริษัทฯมีมาตรฐานในการให้บริการสามารถรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมในท้องถิ่น และจังหวัดใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี

ด้วยทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม ท่าเรือประจวบสามารถเป็นศูนย์กลางของการขนส่งสินค้าจากภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ตลอดจนส่งเสริมพัฒนาการขนส่งทางน้ำ และสนับสนุนการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน (Eastern Economic Corridor : EEC) และ (Southern Economic Corridor : SEC) ท่าเรือประจวบจึงมีศักยภาพที่จะรองรับการขนส่งสินค้าทั้งการขนส่งภายในประเทศและการขนส่งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดการค้าเสรีของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)