คณะกรรมการ ม.36 ประกาศยกเลิกประมูล ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ 1.28 แสนล้าน

คณะกรรมการ ม.36 ประกาศยกเลิกประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 1.28 แสนล้าน หลังคดียังไม่มีความคืบหน้า หวั่นปล่อยเวลา เสี่ยงโครงการล่าช้า มอบ รฟม.เดินหน้าตามกฎหมาย-ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ด้าน “บีทีเอส” เผยเป็นเรื่องปกติ สอดรับหนังสือ รฟม.แจ้งสงวนสิทธิ์ไว้

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า วันนี้ (3 ก.พ. 2564) คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้พิจารณาแนวทางดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ รวมถึงสถานะของการดำเนินงานในปัจจุบันและเห็นว่า ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าทางคดี ส่งผลให้ไม่สามารถคาดการณ์กรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้

ทั้งนี้ หากปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยไป อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้การคัดเลือกเอกชนเกิดความล่าช้า และอาจส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในภาพรวม ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ จึงมีมติโดยสรุปว่า ให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนสายสีส้มฯ ลงวันที่ 3 ก.ค. 2563 และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว และได้มอบหมายให้ รฟม. พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงินรวม 128,128 ล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า ทราบข่าวการประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนสายสีส้มฯ แล้ว และหลังจากนี้คาดว่า รฟม.จะมีการแจ้งเหตุผลของการยกเลิกการประมูลอีกครั้ง โดยขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ขณะที่ในหนังสือที่ รฟม.ได้แจ้งสงวนสิทธิ์ที่จะยกเลิกการประมูล ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เนื่องจากจะมีการใส่ไว้ทุกโครงการ

ขณะที่ ก่อนหน้านี้ที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กับบีทีเอส โดยให้ รฟม.กลับไปใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเดิม คือ เปิดซองคุณสมบัติ ซองเทคนิค ซองข้อเสนอการเงินและซองข้อเสนออื่นๆ เพิ่มเติม แต่ รฟม. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง กรณีมีคำสั่งทุเลาการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประเมินโครงการดังกล่าว นายสุรพงษ์ระบุว่า ขณะนี้ได้ไต่สวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรอศาลนัดฟังคำวินิจฉัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รฟม. ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 โดยในครั้งนั้นมีบริษัทยื่นซองข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ 2 กลุ่ม (4 ราย) จากเอกชนที่ซื้อเอกสารข้อเสนอทั้งหมด 10 ราย โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มายื่นข้อเสนอเป็นรายแรก ตามด้วยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) ประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ซิโน – ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECON

ผู้สื่อข่าวรายงานต่ออีกว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้นัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS (ผู้ฟ้องคดี) ในฐานะผู้ฟ้องคดีกับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวก คือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวม 2 คนเป็นผู้ถูกฟ้อง

ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน และวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา ส่วนตะวันตก การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นเหตุให้ BTSC ซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว BTSC โดยให้ รฟม. กลับไปใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเดิม คือ เปิดซองคุณสมบัติ ซองเทคนิค ซองข้อเสนอการเงินและซองข้อเสนออื่นๆ เพิ่มเติม จนกว่าจะมีคำตัดสินจากศาลออกมา จากปัจจุบัน รฟม.ใช้เกณฑ์ใหม่ เปิดซองคุณสมบัติจากนั้นเปิดซองเทคนิคควบคู่ไปกับซองข้อเสนอการเงินโดยนำคะแนนเทคนิค 30% มาพิจารณาร่วมกับข้อเสนอการเงินอีก 70%

จากนั้น รฟม. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง กรณีมีคำสั่งทุเลาการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประเมินโครงการดังกล่าว โดยจากการยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาในครั้งนั้น รฟม.พิจารณาแล้วว่า กระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะต้องชะลอไว้ก่อน และรอฟังคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดเพื่อกำหนดขั้นตอนดำเนินการต่อไป