‘การรถไฟฯ’ เตรียมจดทะเบียนตั้งบริษัทลูก ‘เอสอาร์ที แอสเซท’ ภายใน 2 เดือนนี้ เล็งประเดิมบริหารพื้นที่ 5 แปลง ‘สถานีกลางบางซื่อ’
“การรถไฟฯ” เตรียมจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สิน “เอสอาร์ที แอสเซท” ภายใน 2 เดือนนี้ เร่งคัดเลือกคณะกรรมการ 9 ราย ตามเกณฑ์ ก.คลัง ก่อนโอนส่งมอบงาน เล็งประเดิมให้บริหารพื้นที่ “สถานีกลางบางซื่อ” 5 แปลงแรก พร้อมยกเคสประมูลพื้นที่แปลง A หลังไร้เงาเอกชนซื้อซองฯ
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ ว่า ในขณะนี้ การรถไฟฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาและคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสม เพื่อเป็นคณะกรรมการบริษัทฯ จำนวน 9 ราย โดยจะพิจารณาตามคุณสมบัติที่เหมาะสม ข้อกฎหมาย รวมถึงเกณฑ์กระบวนการของกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนบริษัทฯ เป็นรัฐวิสาหกิจใหม่ต่อไป โดยคาดว่า จะสามารถจดทะเบียนบริษัทฯ ได้ภายใน 2 เดือนนับจากนี้ ในส่วนของกรรมการผู้อำนวยใหญ่ (ซีอีโอ) นั้น จะดำเนินการสรรหา หลังจากที่มีการจดทะเบียนบริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ภายหลังการจดทะเบียนบริษัทฯ แล้วนั้น การรถไฟฯ จะส่งมอบและโอนงานให้กับบริษัทลูก อาทิ สัญญาต่างๆ ของ รฟท. โดยจะต้องแยกเป็นหมวดหมู่ก่อนส่งมอบงาน รวมถึงจะพิจารณาแนวทางความเหมาะสม เพื่อให้บริษัทลูกเป็นผู้รับผิดชอบ และดำเนินการบริหารพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะให้บริหารพื้นที่ที่พิจารณาแล้วว่า มีความเหมาะสม หรือพิจารณาจากพื้นที่ 5 แปลงแรก จากทั้งหมด 9 แปลง ที่สามารถออกข้อกำหนดและเงื่อนไขรายละเอียดได้ทันที โดยจะออกข้อกำหนดให้เป็นสถานที่ทำงาน ศูนย์ราชการ ที่อยู่อาศัย พื้นที่เชิงพาณิชย์ และเป็น Smart City อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาให้บริษัทลูกดังกล่าว บริหารพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากที่สุด และหยิบยกจากกรณีการเปิดประมูลพื้นที่แปลง A เนื้อที่ 32 ไร่ วงเงินลงทุน 11,721 ล้านบาท มาประกอบการพิจารณา หลังจากการรถไฟฯ ได้กำหนดเวลาขายเอกสารตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 2563-29 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา แต่กลับพบว่า ไม่มีผู้ใดมาซื้อซองประมูลโครงการดังกล่าว
รายงานข่าวจากการรถไฟฯ ระบุว่า สำหรับบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ นั้น จะมีการดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ โดยจะใช้ชื่อ “บริษัท เอสอาร์ที แอสเซท จำกัด” ขณะที่ภายใต้บริษัทลูก บริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ ดังกล่าว จะมีการจัดตั้งบริษัทย่อยอีกประมาณ 3 บริษัท เช่น บริษัทที่ดูแลปัญหาที่ดินบุกรุก, บริษัทดูแลที่ดินที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาได้ เป็นต้น ทั้งนี้ การรถไฟฯ จะถือหุ้นในบริษัทย่อยไม่ถึง 50% และมีหุ้นส่วน (พาร์ทเนอร์) ถือหุ้นประมาณ 47-48% รวมถึงหุ้นบุริมสิทธิอีกประมาณ 3% ซึ่งจะทำให้บริษัทย่อยดังกล่าว ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้การทำงานเกิดความคล่องตัวมากขึ้น